คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบตราส่งอันเป็นเอกสารหรือหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ออกใบตราส่งคือนายเรือ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยผู้เป็นเจ้าของเรือสำหรับสัญญาที่จำเลยอ้างว่า ค. ได้เช่าเรือไปจากจำเลย ก็เป็นสัญญาเช่าเรือแบบเพื่อกำหนดระยะเวลาหนึ่ง (TimeCharter) ซึ่งนายเรือยังคงเป็นตัวแทนของเจ้าของเรืออยู่ และแม้ใบตราส่งดังกล่าวจะมีข้อความบางประการพาดพิงถึงสัญญาเช่าเรือ แต่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งก็ไม่อาจทราบเงื่อนไขและรายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเรือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้เช่าเรือ เมื่อนายเรือได้ลงชื่อออกใบตราส่งโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนผู้ใด ย่อมต้องถือว่ากระทำการในฐานที่เป็นตัวแทนของจำเลยผู้เป็นเจ้าของเรือ จำเลยจึงเป็นผู้ขนส่ง
ฝ่ายผู้ขนส่งเป็นผู้จัดหาเรือลำเลียงมาขนถ่ายสินค้าพิพาทไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยผู้ขนส่งได้รับสินค้าพิพาทไว้จากผู้ส่งในสภาพเรียบร้อย แต่สินค้าพิพาทเมื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งมีสภาพเสียหายโดยขาดจำนวนและปนเปื้อนในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยซึ่งตามมาตรา 10แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 กำหนดให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือ การเก็บรักษาการดูแลและการขนถ่ายซึ่งของที่ตนทำการขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายและเสียหายของสินค้าพิพาทตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อไม่ได้ความว่า จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรา 10 ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าในการบรรทุกสินค้าลงเรือผู้ส่งไม่ได้จัดหาวัสดุป้องกันการปนเปื้อนไว้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนที่ประเทศกรีซร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินธุรกิจรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นทางค้าปกติ โจทก์ได้รับประกันภัยสินค้าข้าวสาลี จำนวน 3,300 ตันในวงเงินทุนประกัน 21,845,020.56 บาท ไว้จากบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์จำกัด ผู้รับตราส่ง โดยบริษัทนิสโซ อิวาย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตัวแทนผู้ขายสินค้าได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยจากเมืองท่าในประเทศแคนาดาถึงปลายทางกรุงเทพมหานคร โดยเรือชื่อเทรดวิล และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่ง เมื่อเรือเทรดวิลเข้าเทียบท่าขนถ่ายสินค้าที่เกาะสีชัง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้จ้างเรือลำเลียง 3 ลำขนถ่ายสินค้าต่อไปยังท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่ามีสินค้าปนเปื้อนเสียหายและขาดจำนวนคิดเป็นเงิน 1,788,414.55 บาท โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วจึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกจากจำเลยทั้งสาม โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน1,797,144.84 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,788,414.55 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,788,414.55 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 482,810.49บาท นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2536 และของต้นเงิน 1,305,604.06 บาทนับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2และที่ 3

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัดผู้รับตราส่งได้สั่งซื้อข้าวสาลีจำนวน 3,300 เมตริกตัน จากประเทศแคนาดาขนส่งมาโดยเรือเดินทะเลเทรดวิลของจำเลยที่ 1 และเอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้แก่โจทก์ เมื่อสินค้าดังกล่าวมาถึงผู้รับตราส่งที่กรุงเทพมหานครปรากฏว่าจำนวนขาดหายไป 213.73 เมตริกตัน และปนเปื้อนกากกระถิน126.40 เมตริกตัน โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ผู้เอาประกันภัยไปและรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประการแรกว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งข้าวสาลีรายนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4 อันเป็นเอกสารหรือหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลมาแสดงว่าผู้ออกใบตราส่งคือนายเรือเทรดวิลซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ผู้เป็นเจ้าของเรือที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า บริษัทแคนโฟเท็กซ์ ชิปปิ้ง เซอร์วิสเซสจำกัด ได้เช่าเรือเทรดวิลไปจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเช่าเรือเอกสารหมายล.7 และได้นำไปใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นสัญญาเช่าเรือแบบเพื่อกำหนดระยะเวลาหนึ่ง (Time Charter)ซึ่งนายเรือยังคงเป็นตัวแทนของเจ้าของเรืออยู่ สำหรับใบตราส่งเอกสารหมายจ.4 แม้จะมีข้อความพาดพิงถึงสัญญาเช่าเรือว่า “FREIGHT PAYABLE ASPER CHARTER PARTY” หมายความว่า “ค่าระวางชำระตามชาร์เตอร์ปาร์ตี้”และ “SUBJECT TO ALL TERMS, CONDITIONS AND EXCEPTIONS OF GOVERNING CHARTER PARTY TO APPLY TO THIS BILL OF LADING”หมายความว่า “ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและเงื่อนไขทั้งปวงและข้อยกเว้นของชาร์เตอร์ปาร์ตี้ที่ใช้บังคับกับใบตราส่งนี้” แต่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งก็ไม่อาจทราบเงื่อนไขและรายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเรือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นผู้เช่าเรือ เมื่อนายเรือได้ลงชื่อออกใบตราส่งโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนผู้ใด ย่อมต้องถือว่ากระทำการในฐานะที่เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของเรือ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งจะต้องรับผิดเพื่อการสูญหายและเสียหายแห่งของที่รับขนตามใบตราส่งดังกล่าว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายและเสียหายของสินค้าพิพาทหรือไม่โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้รับตราส่งได้รับมอบสินค้าพิพาทจากเรือเทรดวิลโดยขนถ่ายลงเรือลำเลียงที่ผู้รับตราส่งจัดหามา ณ ท่าเรือเกาะสีชังครบจำนวนตามใบตราส่งแล้ว ส่วนสินค้าปนเปื้อนเกิดจากความผิดของผู้ส่งในการบรรทุกสินค้าพิพาทลงเรือที่ไม่หาวัสดุป้องกันไม่ให้สินค้าเกิดการปนเปื้อนนั้น ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ฝ่ายผู้ขนส่งเป็นผู้จัดหาเรือลำเลียงมาขนถ่ายสินค้าพิพาทไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่กรุงเทพมหานครหาใช่ผู้รับตราส่งจัดหาเรือลำเลียงมารับมอบสินค้า ณ ท่าเรือเกาะสีชังไปครบจำนวนตามใบตราส่งดังที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้รับสินค้าพิพาทไว้จากผู้ส่งในสภาพเรียบร้อย แต่สินค้าพิพาทเมื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งมีสภาพเสียหายโดยขาดจำนวนและปนเปื้อนในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1ซึ่งตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534กำหนดให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือ การเก็บรักษา การดูแลและการขนถ่ายซึ่งของที่ตนทำการขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพื่อความสูญหายและเสียหายของสินค้าพิพาทตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลดังกล่าวและเมื่อทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรา 10 ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าในการบรรทุกสินค้าลงเรือผู้ส่งไม่ได้จัดหาวัสดุป้องกันการปนเปื้อนไว้ดังข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 ได้

พิพากษายืน

Share