คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานยึดทรัพย์ในการบังคับคดียึดที่ดินตามที่โจทก์นำยึดแล้วรายงานหัวหน้าแผนกในวันเดียวกัน หัวหน้าแผนกแจ้งการยึดต่อลูกหนี้ 10 วันต่อมา แต่เป็นวันหยุดราชการเสีย 5 วัน มีเวลาทำงาน 4 วัน ลูกหนี้โอนทรัพย์นั้นไปเสียก่อนแจ้งการยึด 3 วันแล้ว ดังนี้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งการยึดในเวลารวดเร็วตามสมควร ส่วนที่แจ้งการยึดต่อเจ้าพนักงานที่ดินล่าช้าต่อมาจากการที่ลูกหนี้ขายทรัพย์ไปแล้วไม่เป็นผลโดยตรง พนักงานยึดทรัพย์ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ชนะคดีแล้วนำยึดที่ดิน ลูกหนี้ตามคำพิพากษาขายที่ดินไปก่อนแจ้งการยึด โจทก์แพ้คดีผู้ซื้อที่ร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีจนถึงกระทรวงยุติธรรมโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์นำจำเลยที่ 1 ยึดที่ดินพร้อมตึกแถวของนายสถิล โชติเสถียร ในวันที่ 6 ธันวาคม 2517 เมื่อยึดแล้วจำเลยที่ 1 รายงานจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน จำเลยที่ 2 สั่งจำเลยที่ 1 แจ้งการยึดให้นายสถิล โชติกเสถียร นายทะเบียนท้องถิ่นเขตยานนาวา เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครทราบ ต่อมาจำเลยที่ 2 แจ้งการยึดให้นายสถิล โชติกเสถียร ทราบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2517 เป็นระยะเวลาห่างจากการยึด 10 วัน แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการเสีย 5 วัน คือวันที่ 7-8 เป็นวันเสาร์ – อาทิตย์ วันที่ 10 เป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ 14 – 15 เป็นวันเสาร์ – อาทิตย์ จำเลยที่ 2 มีเวลาทำงานหลังจากการยึดทรัพย์เพียง 4 วันหักเวลาการเดินทางของหนังสือ ซึ่งปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการแล้วเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 แจ้งการยึดถึงนายสถิล โชติกเสถียร ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วตามสมควรแล้ว แต่นายสถิล โชติกเสถียร ก็ยังทำนิติกรรมโอนขายทรัพย์สินที่ยึดไว้ให้นายประกิจ มโนมัยวิบูลย์ ไปในวันที่ 12 ธันวาคม 2517 ก่อนหน้าแจ้งการยึดถึง 3 วัน และที่จำเลยที่ 3 แจ้งการยึดให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบในวันที่ 30 ธันวาคม 2517 นั้น เมื่อนายสถิลโชติกเสถียร โอนขายทรัพย์สินที่ยึดไปก่อนแล้วความเสียหายของโจทก์หากจะมีขึ้นก็มิได้เกิดจากผลโดยตรงหรือเป็นผลอันใกล้ชิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 แต่เกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น หาใช่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยดังกล่าวไม่คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นต่อไป”

พิพากษายืน

Share