คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์สัญญาจะให้จำเลยได้เช่าที่ดินของ พ.ปลูกตึกแถว 20 ห้องจำเลยจะให้เงินโจทก์ 600,000 บาทแต่โจทก์จัดให้ได้เช่าปลูกเพียง 17 ห้อง เพราะเทศบาลขยายถนนซึ่งจำเลยก็ปลูกตามนั้นเสร็จแล้วจำเลยให้เงินโจทก์ไปเพียง 290,000 บาทโจทก์จะฟ้องเรียกเงินจากจำเลยอีกไม่ได้ และจำเลยจะเรียกเงินคืนจากโจทก์ก็ไม่ได้เพราะโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา และจำเลยก็ยินยอมปฏิบัติไปทั้งที่รู้อยู่เช่นนั้นแล้วเงินที่โจทก์รับไปเป็นการเพียงพออยู่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2496 โจทก์ได้จัดให้จำเลยเข้าทำสัญญาเช่าปลูกตึกแถวสี่ชั้น 20 คูหา จากบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1395 ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นการเรียบร้อยตามสำเนาท้ายฟ้องหมาย 1 และในวันนั้นเองโจทก์ได้มอบใบยินยอมของเจ้าของที่ดินแบบแปลนกับหนังสือขออนุญาตปลูกสร้างอาคารให้แก่จำเลย เพื่อยื่นต่อเทศบาลนครกรุงเทพฯ นอกจากนี้โจทก์ได้จัดการให้ผู้เช่าเดิมขนย้ายออกไปจากที่ดินนำเจ้าหน้าที่เทศบาลนครกรุงเทพฯ ไปปักฝังชี้เขตที่เหลือจากการขยายถนน เพื่อให้จำเลยทำการปลูกสร้างได้ถูกต้องและจำเลยได้ลงมือปลูกสร้างจวนเสร็จสมตามที่โจทก์ได้ชี้ช่องการที่โจทก์จัดให้จำเลยทำสัญญาเช่าดังกล่าวนี้ จำเลยได้ทำสัญญาให้บำเหน็จโจทก์ไว้หนึ่งฉบับ และต่อมาทำเพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ ตามสำเนาท้ายฟ้องหมาย 2 และ 3 โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยตามงวดในสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยตลอดมาจนกระทั่งจำเลยเทเสาชั้นล่างเสร็จแล้วตามสัญญาหมาย 2 ข้อ 6(ค) จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์130,000 บาท แต่จำเลยหาได้จ่ายให้โจทก์ตามสัญญาไม่ โจทก์ทวงถามหลายครั้งก็ไม่ชำระให้ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงิน 130,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี แก่โจทก์ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยให้การรับว่า ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด และสัญญาวางเงินมัดจำเพื่อปลูกสร้างตึกแถวสี่ชั้น 20 คูหา หมาย 2, 3 ท้ายฟ้อง จำเลยได้ทำไว้กับโจทก์จริงแต่เมื่อจำเลยได้จดทะเบียนสิทธิการเช่ากับบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2496 แล้ว โจทก์ก็ปฏิบัติการให้เป็นไปตามสัญญาไม่ได้ ตามสัญญาข้อ 13 คือ โจทก์ไม่สามารถให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตปลูกสร้างของเทศบาลเพื่อให้จำเลยทำการปลูกสร้างตึกแถว 4 ชั้น 20 คูหา ภายในกำหนด 20 วัน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต่อมาจำเลยวิ่งเต้นขวนขวายจนได้รับใบอนุญาตมาเองจากเทศบาล เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2497 และได้รับอนุญาตให้สร้างเพียง 17 ห้อง อันมิใช่เป็นผลแห่งการกระทำระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อโจทก์ผิดสัญญาดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะได้เงินบำเหน็จตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับไปจากจำเลยแล้ว 168,000 บาท ตามสัญญาหมาย 2 ท้ายฟ้อง จำเลยได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวเรียกเงิน 168,000 บาท คืนจากโจทก์หลายครั้งแล้ว โจทก์ก็ไม่คืนเงินให้ จำเลยจึงขอฟ้องแย้งเรียกเงินที่จ่ายให้โจทก์รับไปแล้ว 3 คราว เป็นเงิน 168,000 บาทคืนแก่จำเลย พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ผู้ให้เช่าได้เซ็นนามอนุญาตให้จำเลยทำการก่อสร้างตึกแถวดังกล่าว ก็โดยความสามารถของโจทก์และภายใน 20 วัน โจทก์ได้จัดการมอบคำขออนุญาตปลูกสร้างพร้อมด้วยแบบแปลนซึ่งโจทก์ได้มาจากบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด ให้จำเลยไปยื่นขออนุญาตจากเทศบาลนครกรุงเทพฯ พร้อมทั้งจัดการให้คนเช่าเดิมออกไป แล้วรื้อทรากตึกเดิมออกเพื่อทำการปลูกสร้างได้แล้ว แต่ขณะนั้นรัฐบาลดำริจะขยายถนนตรงที่จะปลูกสร้างกันนี้โจทก์จึงนำเจ้าหน้าที่เทศบาลไปปักหลักและชี้แนวเขตว่าจะให้ปลูกสร้างได้เพียงไหน เจ้าหน้าที่ได้ปักหลักชี้แนวเขตให้จำเลยปลูกสร้างและจะออกใบอนุญาตให้ตามนั้นซึ่งเดิมตามแบบแปลนที่ขออนุญาตทำได้ 20 คูหา แต่เมื่อขยายถนนออกไปเทศบาลนครกรุงเทพฯ จะอนุญาตให้ปลูกได้เพียง 17 คูหา จำเลยจึงยับยั้งไม่ยอมให้เทศบาลฯ ออกใบอนุญาตตัดทอนเนื้อที่ลง ทั้งไม่ยอมเลิกสัญญากับโจทก์และบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด กลับขอให้ประธานบริษัทนั้นทำหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2496 และให้โจทก์ร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีก เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2496 จนต้องเสนอ เรื่องราวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จำเลยก็คอยฟังผลและเร่งเร้าให้โจทก์ไปติดตามเรื่องตลอดมา ในที่สุดคณะรัฐมนตรีลงมติไม่ยินยอมผ่อนผันให้ จำเลยจึงยอมให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ออกใบอนุญาตให้จำเลยปลูกสร้างได้ 17 คูหา เท่าที่เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ เคยชี้แนวเขตให้จำเลยปลูกสร้างนั้น เนื่องจากจำเลยได้ปลูกห้องจำนวนน้อยลงโจทก์จึงได้เจรจากับเจ้าของที่ดินให้แก้ไขแบบแปลนจากตึก 3 ชั้น เป็น 4 ชั้น เพื่อไม่ให้ประโยชน์ที่จำเลยควรจะได้ลดน้อยลงการปลูกสร้างตึกล่าช้าจึงมิใช่ความผิดของโจทก์ แต่หากจำเลยหวังจะได้ประโยชน์เต็มตามจำนวนที่คาดหมายไว้เท่านั้น โจทก์จึงมิได้ผิดสัญญา จำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ และคงถือเอาประโยชน์จากสัญญาตลอดมา ที่จำเลยว่าโจทก์ได้รับบำเหน็จมาแล้ว 168,000 บาท นั้น ความจริงเงินจำนวนนี้จำเลยได้จ่ายเป็นค่าสมนาคุณให้โจทก์ตามสัญญาท้ายฟ้อง หมาย 3 ข้อ 2 ก. และ ข. ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนจากโจทก์ได้อีก ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสีย

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่สามารถให้จำเลยปลูกสร้างตึกแถวได้ครบจำนวน พิพากษายกฟ้องให้โจทก์ใช้เงินคืนแก่จำเลย 138,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเงินแก่จำเลยเสร็จ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถึงหากโจทก์ จะเป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยก็มิได้ถือเป็นสารสำคัญอันจะขอเลิกสัญญา พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ 130,000 บาท กับดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย

จำเลยจึงได้ฎีกาขึ้นมา

ศาลฎีกาฟังคำแถลงทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว

ทางพิจารณาได้ความว่า โจทก์ได้รับสิทธิเช่าที่จากบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด ให้ปลูกสร้างอาคาร 20 คูหา ในที่ดินโฉนดที่ 1359 มีกำหนด 6 ปี โจทก์ตกลงให้จำเลยเป็นผู้สร้าง โดยจำเลยให้เงินโจทก์ 600,000 บาท เป็นค่าตอบแทน ดังปรากฏ ในสัญญาหมาย 2 ลงวันที่ 17 มกราคม 2496 แล้ว โจทก์จัดให้จำเลยเข้าทำสัญญากับบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด โดยตรง ดังปรากฏในสัญญา หมาย 1 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2496 ต่อมาปรากฏว่าที่ ๆ จะก่อสร้างมีเพียงพอสร้างได้ 17 คูหา ไม่ใช่ 20 คูหา ดังที่ตกลงไว้ เพราะถูกแนวขยายถนน โจทก์กับหลวงเมธีฯ กรรมการบริษัทร้องเรียนต่อกระทรวงมหาดไทยขอให้ได้สร้างเต็ม 20 คูหา แต่ไม่เป็นผล จำเลยขอลดเงินที่จะต้องจ่ายตามส่วนโจทก์ยินยอมในที่สุดจำเลยคงได้รับอนุญาตเมื่อเดือนมีนาคม 2497 ให้สร้างได้เพียง 17 คูหา และจำเลยได้จ่ายเงินไปตามสัญญาแล้ว 290,000 บาท

ได้ความเช่นนี้ ประเด็นสำคัญคงมีว่า การที่โจทก์มิได้ปฏิบัติการให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตปลูกสร้างตึก 20 คูหา ภายใน 20 วันภายหลังจดทะเบียนการเช่า คือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2496 จำเลยต้องเป็นผู้วิ่งเต้นขออนุญาตปลูกสร้างได้เพียง 17 คูหา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2497 เช่นนี้จะถือว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจะต้องรับผิดเพียงใดหรือไม่

เมื่อได้พิจารณาคำพยานหลักฐานโดยตลอดแล้ว ปรากฏตามสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยลงวันที่ 17 มกราคม 2496 มีว่า “จำนวนเงิน 600,000 บาท ตามสัญญานี้ หากเกิดมีเหตุใด ๆ จะเป็นเรื่องพ้นวิสัยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทำให้ผู้เช่าสร้างไม่สามารถจะปลูกตึกแถวได้สำเร็จเรียบร้อยเป็นตัวตึกครบถ้วนทั้ง 20 คูหา และให้บุคคลเป็นเช่าช่วงตลอดระยะเวลา 6 ปี ผู้ให้สัญญายินยอมคืนเงินที่ได้รับมาแล้วเท่าไรให้กับผู้เช่าสร้างตลอดทั้งถ้ามีการเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้เช่าสร้าง ผู้ให้สัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ด้วยทั้งสิ้น”

แต่ความข้อนี้โจทก์สืบว่า จำเลยก็ทราบดีแล้วว่าจะปลูกได้เพียง 17 คูหา จำเลยไม่ว่าอะไร ขอให้โจทก์ลดเงินลงตามส่วน โจทก์ก็ยอมตกลง และการที่จำเลยลงมือปลูกสร้างช้า ก็เป็นเพราะจำเลยรอให้หลวงเมธีฯ กรรมการ บริษัทกับโจทก์จัดการร้องเรียนให้ได้สร้างครบ 20 คูหา ฉะนั้น จำเลยจะถือเป็นสารสำคัญว่า โจทก์ประพฤติผิดสัญญายังไม่ถนัด เพราะเมื่อจำเลยทราบว่า สร้างตึกไม่ได้ครบ 20 คูหา แล้วจำเลยก็ไม่จัดการอย่างใด และจำเลยคงยอมรอให้ทางบริษัทและโจทก์ร้องเรียนให้ได้สร้างครบ 20 คูหา เมื่อสร้างไม่ได้ครบ จำเลยก็คงลงมือก่อสร้างจนเสร็จ 17 คูหา จำเลยเพิ่งมีหนังสือขอให้โจทก์คืนเงิน 168,000 บาท เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2496 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังรีรอที่จะปฏิบัติตามสัญญาอยู่และยังได้ความว่า จำเลยไปหาหลวงเมธีฯ กรรมการบริษัท หลวงเมธีฯแนะให้จำเลยรับเงินคืนจากโจทก์ 60,000 บาท จำเลยก็ยอม

สรุปข้อเท็จจริงคงได้ความว่า โจทก์เป็นผู้จัดให้จำเลยได้เข้าทำสัญญาปลูกสร้างกับบริษัทไพบูลย์สมบัติ จำกัด แต่การปลูกสร้างไม่ได้เต็มครบถ้วนตามสัญญาและตามกำหนด ฝ่ายจำเลยก็มิได้ถือเป็นสารสำคัญ เพราะตามพฤติการณ์เห็นได้ว่า จำเลยคงยินยอมรอและทำการปลูกสร้างจนแล้วเสร็จ และต้องขาดเสียประโยชน์ไปในการนี้ด้วย ฉะนั้น โจทก์จะเรียกเงินจากจำเลยเต็มตามข้อสัญญาย่อมไม่ได้ เพราะจำเลยปฏิบัติการไม่ได้เต็มตามสัญญา และข้างฝ่ายจำเลยจะถือว่า การที่จำเลยไม่ได้ปลูกสร้างครบ 20 คูหา เต็มตามสัญญา เป็นการที่โจทก์ประพฤติผิดสัญญาทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะจำเลยยินยอมปฏิบัติตามสัญญาตลอดมาจนเสร็จทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ดีแล้ว

เพราะฉะนั้นในกรณีนี้จึงเห็นว่า เงินที่โจทก์รับไปจากจำเลยเป็นการเพียงพอกับกิจการที่โจทก์ได้จัดทำมา โจทก์จะฟ้องเรียกอีกหรือจำเลยจะฟ้องเรียกคืนย่อมไม่เป็นธรรม

เหตุนี้จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องทั้งสองฝ่าย ค่าธรรมเนียม ค่าทนายเป็นพับตลอด 3 ศาล

Share