คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8296/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องต่อศาลว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งไม่มีกฎหมายระบุให้ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนฟ้องคดีเหมือนการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษี ซึ่งโจทก์จะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯประกอบมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าเป็นการข้ามขั้นตอนจึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว ศาลฎีกาสามารถวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน
โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยอ้างแต่เพียงว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีเงินได้ตามการประเมินเท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ตามมาตรา 31 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ดังนั้น เมื่อปรากฏจากคำฟ้องว่าโจทก์ไม่ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการประเมินภายในกำหนดเวลา ค่าภาษีดังกล่าวจึงถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12อธิบดีของจำเลยย่อมมีอำนาจสั่งยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ตามมาตรา 12 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร การที่จำเลยสั่งให้เจ้าพนักงานของจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้องจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถูกจำเลยตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีเงินได้และถูกประเมินให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม อ้างว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี2539 ไม่ถูกต้อง โดยแสดงรายได้ต่ำไป 11,300,000 บาท นางอิศราเปี่ยมศิลปกุญชร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 7 แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 7,330,476 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20ตุลาคม 2540 ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของจำเลย ภายหลังจากโจทก์ยื่นคำอุทธรณ์การประเมินภาษีต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว จำเลยมอบให้นายสมเกียรติ เจริญกุล เจ้าหน้าที่ตำแหน่งสรรพากรภาค 2 มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานยึดทรัพย์สินของโจทก์ ได้แก่ ที่ดิน3 แปลง โฉนดเลขที่ 239753, 239754 และ 239755 ตั้งอยู่ที่แขวงบางนาเขตบางนา (เขตพระโขนง) กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ จำเลยยังได้อายัดเงินในบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาศรีย่านอีกสองบัญชีต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ได้รับหนังสือส่งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ 5 แจ้งว่าจะมีการขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงในวันที่ 9 มีนาคม 2543 โจทก์เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ดำเนินการเร่งรัดภาษีอากรที่ค้างชำระจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่ชำระ จำเลยจึงมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการยึดทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น โดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ซึ่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิยึดทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวได้เพราะโจทก์มิใช่ผู้มีเงินได้ที่แท้จริงเนื่องจากเงินได้จำนวนดังกล่าวเป็นเงินได้ที่นางจุฑารัตน์ เกียรติเลิศพงษา ภริยาโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์ นายทวิช และนางดวงรัตน์ เกียรติเลิศพงษา นายสุรชัย ศิริภาภรณ์ และธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด เป็นจำเลย ขอให้เพิกถอนการทำนิติกรรม ต่อมานายสุรชัยได้ชำระเงินเป็นค่าเสียหายให้แก่นางจุฑารัตน์จำนวน 11,300,000 บาท นางจุฑารัตน์จึงถอนฟ้องไป คือ คดีหมายเลขแดงที่ 2757/2539 ของศาลจังหวัดนนทบุรีโจทก์จึงมิใช่ผู้มีเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีตามที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินนอกจากนี้หลังจากจำเลยให้โจทก์ชำระค่าภาษีแล้ว โจทก์พบว่านางจุฑารัตน์จดทะเบียนสมรสกับบุคคลอื่นมาก่อน และยังไม่มีการจดทะเบียนหย่าโจทก์จึงร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ และศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดค่าภาษีจากการรับเงินของนางจุฑารัตน์แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์โจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีเงินได้ และการสมรสระหว่างโจทก์กับนางจุฑารัตน์เป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบแล้วคดีของโจทก์จึงถือได้ว่าเป็นคดีที่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตามมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินและงดการขายทอดตลาดที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวกับเพิกถอนการอายัดเงินในบัญชีของโจทก์

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าการที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์เป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเป็นสองตอน ตอนแรกเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการที่ถูกจำเลยประเมินให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมว่าโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งในขณะที่ฟ้องคดีนี้เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตอนที่สองโจทก์บรรยายว่า ภายหลังการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว จำเลยมอบให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยยึดที่ดินของโจทก์ 3 แปลง กับอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์และต่อมาได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดิน ซึ่งโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิและอายัดทรัพย์ของโจทก์ได้ เพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้มีเงินได้ที่แท้จริง จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่หรือวินิจฉัยสั่งให้ดำเนินการยึดทรัพย์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร ขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินและเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินในบัญชีของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องต่อศาลว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการยึดและอายัดทรัพย์ของโจทก์ซึ่งไม่มีกฎหมายระบุให้ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนฟ้องคดีเหมือนการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษี ซึ่งโจทก์จะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 8แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 ประกอบมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าเป็นการข้ามขั้นตอนตามมาตรา 30(2) จึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยสั่งให้เจ้าพนักงานของจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์โดยชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่ ไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวน โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยอ้างแต่เพียงว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้มีเงินได้ตามการประเมินเท่านั้น ซึ่งปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้มีเงินได้ดังกล่าวหรือไม่ ยังไม่มีข้อยุติเพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ตามมาตรา 31แห่งประมวลรัษฎากรนั้น การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากรดังนั้น เมื่อปรากฏจากคำฟ้องว่าโจทก์ไม่ชำระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามการประเมินภายในกำหนดเวลาค่าภาษีดังกล่าวจึงถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 อธิบดีของจำเลยย่อมมีอำนาจสั่งยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ตามมาตรา 12 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร การที่จำเลยสั่งให้เจ้าพนักงานของจำเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ตามฟ้อง จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share