คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8177/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำของจำเลยตามฟ้องที่ระบุว่าจำเลยร่วมกับพวกลักเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับวิทยุคมนาคม โดยจำเลยกับพวกนำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับคลื่นสัญญาณและรหัสเลขหมายของโทรศัพท์ผู้อื่นมาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกหรือรับการเรียกเข้าผ่านสถานีและชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์ของผู้เสียหายนั้น เป็นเพียงการรับส่งวิทยุคมนาคมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์โดยไม่มีสิทธินั่นเอง จึงมิใช่เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นโดยทุจริตการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสอง แต่จำเลยคงมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำให้เกิดการรบกวนขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม โดยร่วมกันนำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาปรับคลื่นสัญญาณความถี่และรหัสประจำเลขหมายในภาครับและภาคส่งของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 2165791 ทำให้เคลื่อนสัญญาณของโทรศัพท์เคลื่อนที่เลขหมาย 2165791 ขัดข้องไม่อาจใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารได้แล้วจำเลยนำโทรศัพท์ที่ปรับคลื่นสัญญาณมาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกผ่านชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูล่าร์ 470 ขององค์การโทรศัพท์ผู้เสียหายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นซึ่งคำนวณเป็นราคาทรัพย์ที่จำเลยลักไปเป็นเงิน 52,265.40 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 83,91, 33 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 22, 23, 24, 26 ริบของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้จำเลยกับพวกร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 52,265.40 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสาม พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 26 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานร่วมกันลักทรัพย์จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันรบกวนขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน ริบของกลางไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข ให้จำเลยคืนเงินหรือชดใช้เงินจำนวน 52,265.40 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นั้น คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุว่า จำเลยกับพวกร่วมกันลักเอาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อันเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้กับวิทยุคมนาคม โดยจำเลยกับพวกนำเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับคลื่นสัญญาณและรหัสเลขหมายของโทรศัพท์หมายเลข 2165791มาใช้ติดต่อสื่อสารโทรออกหรือรับการเรียกเข้าผ่านสถานีและชุมสายโทรศัพท์ระบบเซลลูล่าร์ 470 ของผู้เสียหาย คำนวณเป็นราคาทรัพย์ที่ลักไป52,265.40 บาท นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเพียงการทำการรับส่งวิทยุคมนาคมหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการแย่งใช้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์โดยไม่มีสิทธินั่นเอง จึงมิใช่เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสองแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะพินิจซึ่งจำเลยไม่ค้านว่า จำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาให้บริการแก่บุคคลทั่วไปที่บริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยเรียกเก็บค่าบริการนาทีละ 3 บาท เป็นการหาประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหาย และระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นความผิดที่ร้ายแรง ไม่สมควรที่บุคคลอื่นจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ และยกคำขอให้คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share