คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5822/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนก็ตาม แต่การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เป็นประจำตลอดมาย่อมถือได้ว่าจำเลยตกลงกับลูกจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดการจ่ายค่าจ้างโดยปริยาย การที่โจทก์ทั้งสามสิบสามได้รับการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า ณ วันสิ้นเดือนจึงมิใช่เป็นการบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะกำหนดจ่ายสินจ้าง อันจะมีผลเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในคราวถัดไป

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสิบสามสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทั้งสามสิบสามโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือนของทุกเดือนหนึ่งวัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2541 จำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบสามโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสามเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละหกสิบวัน

จำเลยทั้งสามสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสามสิบสามเป็นลูกจ้างจำเลยมีกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน แต่เพื่อความสะดวกในการจ่ายเงินเดือนเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานทางบัญชีและการเงินจึงมีการจ่ายเงินเดือนก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน จำเลยได้ปิดประกาศเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2541 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541จึงเป็นการเลิกจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามสิบสามโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างคนละ 60 วัน

จำเลยทั้งสามสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันสิ้นเดือนของทุกเดือนก็ตามแต่การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เป็นประจำตลอดมาย่อมถือได้ว่าจำเลยตกลงกับลูกจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดการจ่ายค่าจ้างจากวันสิ้นเดือนเป็นวันก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน โดยปริยาย ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีสิทธิทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกรณีหาอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ไม่ ฉะนั้นจึงต้องถือว่าวันที่ครบกำหนดจ่ายสินจ้างตามกฎหมายของจำเลยในเดือนมิถุนายน 2541 คือวันที่ 29 มิถุนายน 2541 การที่โจทก์ทั้งสามสิบสามได้รับการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งมิใช่เป็นการบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในเดือนมิถุนายน 2541 อันจะมีผลเป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในคราวถัดไปคือการจ่ายสินจ้างในเดือนกรกฎาคม 2541 แต่จำเลยกำหนดให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 จึงเป็นการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามสิบสามโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ทุกคนได้เบิกความรับว่า โจทก์ทั้งสามสิบสามได้รับสินจ้างสำหรับเดือนกรกฎาคม 2541 จากจำเลยไปครบถ้วนทุกคนแล้ว ฉะนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสามเฉพาะสินจ้างของเดือนสิงหาคม 2541 เท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างของเดือนกรกฎาคม2541 ให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบสามอีก”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 18 โจทก์ที่ 20 ถึงที่ 28 และโจทก์ที่ 30ถึงที่ 36 เท่ากับค่าจ้างคนละ 1 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share