คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4768/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายระบุผู้รับเงินคือจำเลยที่ 2โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า ผู้ถือ ในเช็คออก จึงเป็นเช็คผู้ถือผู้จ่ายอาจจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 หรือบุคคลใดก็ได้ที่มีเช็คอยู่ในครอบครอง การที่จำเลยที่ 2สลักหลังโอนให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1ผู้สั่งจ่าย ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คอ้างว่าโจทก์รับโอนเช็คมาจากจำเลยที่ 2 ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำสืบและจะนำสืบได้ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยกเรื่องดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับหรือปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ เหตุแห่งการนั้นอีกด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ได้ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริต กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ได้โอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับและฉบับอื่นให้แก่โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉล โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคำให้การดังกล่าวเป็นเพียงคำให้การปฏิเสธที่ไม่มีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธว่าคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไรจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ได้ แต่ตามคำให้การที่ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้โจทก์โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบ เท่ากับจำเลยที่ 1ต่อสู้ว่าสิทธิของโจทก์ที่ได้เช็คมานั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็คที่ฟ้องในฐานะผู้ทรงเนื่องจากไม่มีมูลหนี้นั่นเอง จำเลยที่ 1ย่อมกล่าวอ้างและนำสืบได้เพราะเป็นการยกขึ้นต่อสู้ที่มีต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนปัจจุบัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน 2538 จำเลยที่ 2 ได้นำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน จำนวน 6 ฉบับ รวมทั้งเช็คที่ฟ้องในคดีนี้ 2 ฉบับ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 1 สิงหาคม 2538สั่งจ่ายเงินฉบับละ 100,000 บาท มาชำระหนี้ค่าเพชรให้โจทก์เช็คดังกล่าวมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังเมื่อถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสามยอด และธนาคารมหานคร จำกัด(มหาชน) สาขาวัดตึก แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 2 สิงหาคม 2538 ว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายและโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 213,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน200,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คทั้ง2 ฉบับ ดังฟ้อง เพราะโจทก์รับโอนเช็คดังกล่าวด้วยคบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน213,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 200,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบางเขน จำนวน2 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า ผู้ถือออก จำเลยที่ 2 สลักหลังโอนเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ให้แก่โจทก์ ต่อมาเมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนด โจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสามยอด และที่ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) สาขาวัดตึก เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2538และวันที่ 2 สิงหาคม 2538 ตามลำดับ ธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5

คดีคงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยคบคิดกันฉ้อฉลและโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบหรือไม่เห็นว่า เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายระบุผู้รับเงินคือจำเลยที่ 2โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า ผู้ถือในเช็คออก จึงเป็นเช็คผู้ถือเพราะผู้จ่ายอาจจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 หรือบุคคลใดก็ได้ที่มีเช็คอยู่ในครอบครอง การที่จำเลยที่ 2สลักหลังโอนให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือ โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์รับโอนเช็คมาจากจำเลยที่ 2ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่นำสืบและจะนำสืบได้ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ยกเรื่องดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับหรือปฏิเสธคำฟ้องโจทก์รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นอีกด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 กล่าวในคำให้การฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2539 แต่เพียงว่า”จำเลยที่ 2 กับโจทก์ได้ร่วมกันกระทำการโดยไม่สุจริต กล่าวคือ จำเลยที่ 2ได้โอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับและฉบับอื่นให้แก่โจทก์ด้วยคบคิดกันฉ้อฉลโดยที่จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหนี้โจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย” เห็นว่า คำให้การดังกล่าวเป็นเพียงคำให้การปฏิเสธที่ไม่มีรายละเอียดแห่งการปฏิเสธว่า คบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ได้ อย่างไรก็ตามคำให้การจำเลยที่ 1 ที่ว่า จำเลยที่ 2มิได้เป็นหนี้โจทก์แต่อย่างใด โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงโดยชอบ เท่ากับจำเลยที่ 1ต่อสู้ว่าสิทธิของโจทก์ที่ได้เช็คมานั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามเช็คที่ฟ้องในฐานะผู้ทรงเนื่องจากไม่มีมูลหนี้นั่นเอง จำเลยที่ 1ย่อมกล่าวอ้างและนำสืบได้เพราะเป็นการยกข้อต่อสู้ที่มีต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนปัจจุบัน มิใช่ข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อผู้ทรงคนก่อน ๆ อันจะเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และนางสาวจันทิรา สกุลพานิช พี่สาวจำเลยที่ 1 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ซื้อพลอยรวม 41 รายการจากจำเลยที่ 2เป็นเงิน 1,800,000 บาท ชำระค่าพลอยเป็นเงินสด 100,000 บาท ส่วนที่เหลือสั่งจ่ายเป็นเช็ครวม 17 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท มีเช็คพิพาทเอกสารหมายจ.2 และ จ.3 รวมอยู่ด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ทราบว่าพลอยที่จำเลยที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 1 มีคุณภาพต่ำ ราคาไม่เกิน 300,000 บาท จำเลยที่ 1 พยายามติดต่อจำเลยที่ 2 หลายครั้ง และมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอให้เปลี่ยนพลอยเป็นชนิดที่มีคุณภาพตามที่ตกลงกัน เมื่อติดต่อไม่ได้จำเลยที่ 1 จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีจำเลยที่ 2 และเบิกความเกี่ยวกับโจทก์ว่า “ข้าเชื่อว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2ไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพราะตามเอกสารหมาย จ.1 (เอกสารการซื้อขายเพชรระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2) ทำวันที่ 9 เมษายน 2538 แต่เช็คฉบับแรกตามเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 1 มีนาคม 2538 หากมีหนี้จริงไม่น่าจะรับเช็คย้อนหลัง และหนี้จำนวนมากถึง 600,000 บาท แต่บันทึกกันในเศษกระดาษจึงไม่น่าเชื่อถือ” คำเบิกความดังกล่าวไม่ได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2ไม่มีมูลหนี้ต่อกันอย่างไร ทั้งเช็คพิพาทที่โจทก์นำมาฟ้องลงวันที่ 1 พฤษภาคม2538 และวันที่ 1 สิงหาคม 2538 ไม่ใช่เช็คถึงกำหนดก่อนวันซื้อขายดังจำเลยที่ 1 อ้าง และที่อ้างว่าโจทก์ซื้อขายเพชรกับจำเลยที่ 2 มีเพียงหลักฐานเอกสารหมายจ.1 เพียงอย่างเดียว ไม่น่าเชื่อถือ แต่จำเลยที่ 1 กลับซื้อพลอยจากจำเลยที่ 2จำนวน 1,800,000 บาท โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ เลย สรุปแล้วไม่ว่าโดยข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงรูปคดีไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์คบคิดกันฉ้อฉลกับจำเลยที่ 2 อย่างไรหรือโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่มีมูลหนี้ต่อกันอันจะทำให้โจทก์มิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900, 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 และจะต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา224 วรรคหนึ่ง”

พิพากษายืน

Share