แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า บริษัท บ. เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีรายพิพาททั้งสามฉบับหรือไม่ และออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประเด็นดังกล่าว โจทก์กล่าวอ้างโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตนจึงฟังไม่ได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84
ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันในวันชี้สองสถานฟังได้แต่เพียงว่าบริษัท บ. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนธันวาคม 2539 เท่านั้นแต่จำเลยปฏิเสธว่าใบกำกับภาษีรายพิพาททั้งสามฉบับซึ่งออกโดยบริษัทดังกล่าวนั้นบริษัทดังกล่าวไม่มีตัวตน ไม่มีสถานประกอบการและไม่มีการให้บริการกันจริง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ตามแบบ ภ.พ.73.1 เลขที่ ตป.1.3/2007/170/5/100796ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4เลขที่ สภ.2/7170/ฝ.2/7/42/121 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์นำใบกำกับภาษีซื้อที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยชอบมาใช้เครดิตภาษีขาย เป็นผลให้โจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้อง การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ถูกต้องแล้วขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถานศาลกำหนดประเด็นพิพาทว่า บริษัทเบสท์อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีรายพิพาททั้งสามฉบับหรือไม่และออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน โจทก์ไม่ยื่นบัญชีระบุพยานตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบและจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2540 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนธันวาคม 2539 แสดงยอดขาย 4,869,681.25 บาท ภาษีขาย340,877.69 บาท ยอดซื้อ 12,258,319.23 บาท ภาษีซื้อ 858,082.35 บาทมียอดภาษีชำระเกินในเดือนดังกล่าว 517,204.66 บาท โจทก์ใช้เป็นเครดิตภาษีในเดือนถัดไป โจทก์ได้นำใบกำกับภาษีรวมสามฉบับ มูลค่า 9,500,157.94บาท ภาษีซื้อ 665,011.06 บาท มาถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแต่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า ใบกำกับภาษีซื้อทั้งสามฉบับเป็นใบกำกับภาษีปลอมออกโดยผู้ประกอบการที่ไม่มีตัวตน ไม่มีการประกอบการจริง แจ้งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติมเป็นเงินภาษี 665,011.06 บาท เงินเพิ่ม 129,677.16 บาทเบี้ยปรับ 1,995,011.06 บาท รวมภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม 2,789,699.28 บาทโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ลดภาษีที่เรียกเก็บลง คงเรียกเก็บเป็นเงินภาษี 147,806.40 บาท เบี้ยปรับ1,403,903.20 บาท เงินเพิ่ม 28,822.30 บาท รวมเรียกเก็บภาษีเพิ่ม1,580,531.90 บาท คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า บริษัทเบสท์อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีรายพิพาททั้งสามฉบับหรือไม่และออกโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในประเด็นดังกล่าว โจทก์กล่าวอ้างโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของตน จึงฟังไม่ได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 และที่โจทก์อ้างว่าในวันชี้สองสถานคู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันว่าบริษัทเบสท์ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ได้นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมีเช็คเงินจำนวนสามฉบับ บริษัทเบสท์อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนธันวาคม2539 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 1,939,000 บาท และอ้างว่าเอกสารท้ายฟ้องและท้ายคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของโจทก์รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันฟังได้แต่เพียงว่าบริษัทเบสท์ อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนธันวาคม 2539 เท่านั้นแต่จำเลยทั้งสี่ปฏิเสธว่าใบกำกับภาษีรายพิพาททั้งสามฉบับซึ่งออกโดยบริษัทดังกล่าวนั้น บริษัทดังกล่าวไม่มีตัวตนไม่มีสถานประกอบการและไม่มีการให้บริการกันจริง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุน โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี”
พิพากษายืน