แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้เชิดให้ ก. เป็นผู้มีอำนาจจัดกิจการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 ก. ได้แสดงตนเองต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นผู้มีอำนาจจัดกิจการงานต่างๆ ของจำเลยที่ 1 และได้สั่งจ่ายเช็คแลกเงินสดจากโจทก์มาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ดังนี้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์
ก. เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย
จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดในฐานะเป็นผู้รับโอนหุ้นของ ก. เมื่อห้างฯ จำเลยที่ 1 ยังไม่เลิก โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องร้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1095
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และนายกุ่ยฮวง แซ่เล้า หรือ ฮวงกุ่ย แซ่เล้า หรือ เล่าฮวงกุ่ย ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2 กับนายเฮ็งคุง แซ่ลิ้ม ได้ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ขึ้น จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงพิมพ์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2515 นายกุ่ยฮวงถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 ได้ขอรับโอนหุ้นส่วนของผู้ตายจำนวนสองแสนบาทให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 ส่วนนายเฮ็งคุงหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งได้โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 4 ห้างฯ จำเลยที่ 1 จึงมีผู้ถือหุ้น 3 คน คือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามเดิม ในระหว่างที่นายกุ่ยฮวงยังมีชีวิตอยู่ ห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้เชิดให้นายกุ่ยฮวงเป็นผู้มีอำนาจจัดการกิจการค้าต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 อย่างเช่นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกประการ และนายกุ่ยฮวงยังได้แสดงต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นผู้มีอำนาจจัดกิจการงานต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 อย่างหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นต้นว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งซื้อสินค้า สั่งจ่ายเช็ค เมื่อเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ไม่เพียงพอก็เป็นผู้จัดหากู้ยืมมาหรือสั่งจ่ายเช็คขอแลกเงินสดมาใช้จ่าย และดำเนินกิจการค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็รับเอากิจการต่าง ๆ ที่นายกุ่ยฮวงกระทำไปเป็นประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เองทั้งสิ้น สำหรับจำเลยที่ 4 แม้จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 เช่น เป็นผู้สั่งซื้อสินค้า รับสินค้านำเช็คที่นายกุ่ยฮวงสั่งจ่ายไปขอแลกเงินสดมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อระหว่างเดือนกันยายน 2515 ถึงพฤศจิกายน 2515 นายกุ่ยฮวงซึ่งจำเลยที่ 1 เชิดให้เป็นผู้มีอำนาจจัดการได้ออกเช็คของธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาสะพานเหลือง ขอแลกเงินสดจากโจทก์เพื่อไปใช้จ่ายในกิจการค้าของจำเลยที่ 1 หลายครั้งรวมเช็คทั้งสิ้น20 ฉบับ สั่งจ่ายระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2516 เป็นเงิน 342,380 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ทราบดีและยินยอมตลอดมา แต่เช็คทั้ง 20 ฉบับเบิกเงินไม่ได้ โดยธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะผู้สั่งจ่ายถึงแก่กรรม โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน342,380 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยเชิดนายกุ่ยฮวงทำการเป็นผู้จัดการของห้างฯ จำเลยที่ 1 ไม่เคยให้ไปกู้ยืมเงิน หรือออกเช็คแลกเงินสดมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 หากนายกุ่ยฮวงกระทำไปก็เป็นเรื่องส่วนตัวของนายกุ่ยฮวง จำเลยไม่ต้องรับผิดตามเช็ค สำหรับเช็คลงวันที่ 9 ธันวาคม 2512 สั่งจ่ายเงิน 5,280 บาท เป็นเวลาล่วงมากว่า 3 ปี ขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว เช็คทั้ง 20 ฉบับตามฟ้องไม่ใช่เช็คที่นายกุ่ยฮวงสั่งจ่ายและมีการแลกเงินสดมาจากโจทก์ จำเลยที่ 2 กับนายกุ่ยฮวงไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่เคยสอดเข้าจัดกิจการของห้างฯ จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ได้ถอนหุ้นไปจากจำเลยที่ 1 แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2516 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายกุ่ยฮวงใช้เงิน 342,380 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 มกราคม 2516 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (เฉพาะดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 21,041 บาท) แต่ไม่เกินทรัพย์มรดกส่วนที่ตกได้แก่จำเลยที่ 3 คำขออื่น นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ชำระเงิน 342,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่25 มกราคม 2516 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (เฉพาะดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 21,041 บาท) แต่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกส่วนที่ตกได้แก่ตน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
คดีมีประเด็นว่า (1) นายกุ่ยฮวงได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องแลกเงินสดไปจากโจทก์หรือไม่ (2) จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ และ (3) เช็คฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2512 ขาดอายุความหรือไม่
ประเด็นข้อแรก ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่านายกุ่ยฮวงได้ออกเช็คพิพาท 20 ฉบับไปแลกเงินสดมาจากโจทก์ เมื่อเช็คขึ้นเงินไม่ได้ นายกุ่ยฮวงหรือทายาทของนายกุ่ยฮวงก็ต้องรับผิด
ประเด็นข้อต่อมาวินิจฉัยว่า ห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้เชิดให้นายกุ่ยฮวงเป็นผู้มีอำนาจจัดกิจการต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 และนายกุ่ยฮวงได้แสดงตนเองต่อบุคคลภายนอกว่าเป็นผู้มีอำนาจจัดการกิจการงานต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 เช็คพิพาท 20 ฉบับ เป็นเช็คที่นายกุ่ยฮวงได้สั่งจ่ายแลกเงินสดมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนนายกุ่ยฮวงซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ทายาทของนายกุ่ยฮวง แต่ได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดในฐานะเป็นผู้รับโอนหุ้นของนายกุ่ยฮวง เมื่อห้างฯ จำเลยที่ 1 ยังไม่เลิก โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องร้องให้จำเลยที่ 3 รับผิด ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1095
ประเด็นข้อสุดท้าย ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเชื่อว่านายกุ่ยฮวงเขียนเลข พ.ศ. ผิดไป ที่ถูกนั้นเป็น พ.ศ. 2515 คดีโจทก์สำหรับเช็คฉบับนี้จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์