คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรค 2 บัญญัติว่าสัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความถึงว่า เจ้าของทรัพย์สินและผู้เช่าซื้อจะต้องลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย
โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนข้อบังคับไว้ว่าลายมือชื่อกรรมการใดๆ สองนายร่วมกันพร้อมด้วยตราบริษัทพึงมีผลผูกพันบริษัทแต่ตามสัญญาเช่าซื้อกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตราบริษัท ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้ เท่ากับว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำหนดอำนาจกรรมการของบริาัทไว้ว่า ลายมือชื่อของกรรมการใด ๆ สองนายร่วมกันพร้อมด้วยตราสำคัญของบริษัทมีผลผูกพันบริษัทได้ ส่วนการทำสัญญาเช่าซื้อกับลูกค้าอันเป็นการจัดการบริษัทประจำวันนั้น มติกรรมการกำหนดให้กรรมการใดลงนามเพียงรายเดียวได้ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทเงินทุนและการค้าหลักทรัพย์ โดยออกเงินลงทุนในการซื้อทรัพย์เพื่อให้ลูกค้าเช่าซื้อไปใช้ มีนายวิลเลียม แมสสัน คัมมั่ง ซิม เป็นกรรมการผู้จัดการและนายปูนจิตต์ พุ่มสถิตย์ เป็นรองกรรมการผู้จัดการของบริษัท ปรากฏตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครท้ายฟ้องเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2516 โจทก์ได้รับคำเสนอขอเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ซื้อรถยนต์จากบริษัทไทยยานยนต์ จำกัด และนำออกให้ผู้ทำคำขอเสนอขอเช่าซื้อไปทันที โจทก์จึงได้ซื้อรถยนต์ตามที่แจ้งในคำเสนอขอเช่าซื้อจากบริษัทไทยยานยนต์ จำกัด ในราคา 99,000 บาท คือรถยนต์ฟอร์ด คอร์ตินาแอล แบบเก๋งรุ่นปี 1973 เลขทะเบียน ก.ท.อ.6708 หมายเลขเครื่อง 11969 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วม สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ผู้เช่าซื้อผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นระยะเวลา36 เดือน ผู้เช่าซื้อชำระครั้งแรกเพื่อสิทธิเลือกซื้อด้วยเงินสด 26,000 บาท จำนวนที่เหลือขอผ่อนชำระเดือนละ 2,758 บาท จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เรื่อยมาจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2516 จึงผิดนัดส่งชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์มอบให้ตัวแทนตามทวงถาม เมื่อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า 2 ครั้งติดกันแล้วจึงได้บอกเลิกสัญญา ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสองละเลย โจทก์มอบเรื่องให้ทนายดำเนินการ จำเลยจึงติดต่อขอผ่อนชำระหนี้ แต่หลีกเลี่ยงที่จะให้ตัวแทนโจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อและได้นำไปให้ผู้อื่นเช่าอันเป็นการผิดสัญญาและทำความเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ในสภาพที่ใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบได้ก็ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 99,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่ควรได้ 22,993 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อไปเดือนละ 2,758บาท จนกว่า จำเลยทั้งสองจะมอบรถยนต์หรือใช้ราคาให้แก่โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากกรรมการบริษัทโจทก์ลงชื่อไม่ครบ 2 คน เป็นการผิดข้อบังคับของบริษัทโจทก์ สัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องเป็นโมฆะ สัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ก็ตกเป็นโมฆะด้วย รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อได้สูญหายไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 ขณะที่จอดไว้ในถนนหลวง โดยไม่ใช่ความผิดของจำเลยทั้งสอง ความสูญหายนั้นจึงตกเป็นพับแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของ จำเลยได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 42,548บาท โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ 2,758 บาท 7 เดือน เป็นเงิน19,306 บาทสูงเกินไป ค่าเสียหายอย่างสูงไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท โจทก์ขอให้ใช้ราคาแทน 99,000 บาท ในกรณีที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบรถยนต์คืนเป็นการไม่ชอบ หากต้องใช้ก็ไม่เกิน 40,000 บาท โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสอง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าโจทก์จะอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้หรือไม่ ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสองบัญญัติว่าสัญญาเช่าซื้อนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าเป็นโมฆะ ซึ่งหมายความถึงว่าเจ้าของทรัพย์สินและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย โจทก์เป็นบริษัทจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนข้อบังคับไว้ว่าลายมือชื่อกรรมการใด ๆ สองนายร่วมกันพร้อมด้วยตราบริษัทพึงมีผลผูกพันบริษัท แต่ตามสัญญาเช่าซื้อหมาย จ.9 นายปูนจิตต์ พุ่มสถิตย์กรรมการบริษัทโจทก์ ลงชื่อเพียงคนเดียวและไม่ได้ประทับตราบริษัท ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งได้จดทะเบียนไว้ เท่ากับว่าโจทก์ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์หรือผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

พิพากษายืน

Share