แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 6 เดือน ปรับจำเลยที่ 6 เป็นเงิน 500 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ 6 เป็นให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน เช่นนี้ จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, 2, 3 และที่ 4 มีมีดเป็นอาวุธฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 5, 6 และที่ 7 มีเหล็กแป๊บ 2 อัน เป็นอาวุธร่วมกันอีกฝ่ายหนึ่งบังอาจทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ได้รับอันตรายบ้าง ได้รับอันตรายสาหัสบ้าง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297, 83 และริบของกลาง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 6 มีความผิดตามมาตรา 295 ปรับ 500บาท ยกฟ้องจำเลยนอกนั้นริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามฟ้องแก่จำเลยทุกคน เว้นแต่จำเลยที่ 5
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 6 เดือน และพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 6 เป็นเงิน 500 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำเลยที่ 6 เป็นให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน เช่นนี้ จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 ฎีกาของจำเลยที่ 5 ที่ 6 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 5 และที่ 6