แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานปล้นทรัพย์และร่วมกันมีอาวุธปืนฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องในข้อหาปล้นทรัพย์ และยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหามีอาวุธปืนฯ โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้ฎีการะหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติความว่า ผู้มีอาวุธปืนฯซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตถ้าได้นำมาขอรับอนุญาตภายในกำหนดเก้าสิบวันผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับโทษ
แม้ข้อหาฐานมีอาวุธปืนฯ สำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติในชั้นอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่คดีของจำเลยที่ 2 ก็ยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องนำพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 มาตรา 3 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้เช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 2 คนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงคือ จำเลยกับพวกมีปืนเป็นอาวุธร่วมกันปล้นเอารถยนต์เบ๊นซ์ 1 คัน ราคา 75,000 บาทของนายอากาว แซ่อึ้งหรือแซ่อึ่งไปในการปล้นทรัพย์นี้จำเลยกับพวกได้ใช้กำลังประทุษร้ายนายอากาว เพื่อให้เป็นการสะดวกแก่การลักทรัพย์ เพื่อยึดถือเอาทรัพย์ แล้วจำเลยกับพวกได้พาทรัพย์นั้นไป และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันมีอาวุธปืนพกสั้นชนิดทำเอง 1 กระบอกกระสุนปืน 6 นัดซึ่งอาจใช้ยิงได้ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และเป็นอาวุธปืนที่ไม่ม่เครื่องหมายของนายทะเบียน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 14, 15 ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนที่จับได้จากจำเลยเป็นของกลางด้วย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ เว้นแต่ข้อหามีอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยไม่รับอนุญาตนั้น จำเลยที่ 2 รับว่าได้กระทำผิดจริงดังฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 83 และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15เรียงกระทงลงโทษให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 24 ปี และลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองไม่รับอนุญาตคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 25 ปี ของกลางริบ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานปล้นทรัพย์และยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้โดยผิดกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว ฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายปล้นทรัพย์รายนี้ โดยจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนในการปล้นทรัพย์ด้วย และวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปว่า ข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษนายมะยาแมจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วยนั้นปรากฏว่าในระหว่างที่ศาลฎีกาพิจารณาคดีนี้ ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2518 ออกมาใช้บังคับ และตามมาตรา 3 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน ฯลฯ ไม่ว่าชนิดหรือขนาดใด ที่ทำจากภายนอกราชอาณาจักรโดยโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือที่ทำภายในราชอาณาจักรที่มีคุณภาพใช้ได้โดยปลอดภัย ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าได้นำอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน ฯลฯ ดังกล่าวแล้วมาขอรับอนุญาตเพื่อปฏิบัติการให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน ต่อนายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ฯลฯ” ฉะนั้นแม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฎีกาว่านายมะยาแมจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองเช่นเดียวกับนายมาหามะจำเลย นายมะยาแมจำเลยก็ไดรับผลจากมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ นายมะยาแมจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่านายมะยาแมได้ร่วมมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่จริงดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรนายมะยาแมจำเลยก็ไม่ต้องรับโทษอยู่ดี
สำหรับนายมาหามะจำเลยนั้น แม้ข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตจะยุติในชั้นอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่คดีของนายมาหามะจำเลยก็ยังไม่ถึงที่สุด และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ฯลฯ”ฉะนั้นศาลฎีกาจึงต้องนำพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3 มาใช้บังคับแก่นายมาหามะจำเลยด้วย นายมาหามะจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้เช่นกัน
พิพากษาแก้ เป็นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตสำหรับนายมะยาแมจำเลยให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และสำหรับนายมาหามะจำเลยนั้นก็ไม่ต้องรับโทษ จึงให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาฐานนี้สำหรับนายมาหามะจำเลยด้วย ส่วนของกลางคงให้ริบเพราะเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์