คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 289/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นสั่งสืบพยานแล้วงดสืบพยานเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้คดีเสร็จไปโดยไม่ชักช้า
ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2509 จำเลยที่ 2 นำความเท็จไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าสามีโจทก์บุกรุกที่ของจำเลยที่ 1 นายอำเภอหลงเชื่อมีคำสั่งห้ามมิให้โจทก์กับสามีเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดิน ทำให้โจทก์กับสามีต้องงดเว้นเข้าไปตัดจากตั้งแต่วันนั้นแสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไมหทดแทนแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2509 อายุความละเมิดจึงเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น ไม่ใช่นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดิน
จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีแพ่ง ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลว่า โจทก์ให้บุตรสาวเข้าไปตัดจากในที่พิพาท ขอให้ศาลเรียกมาสั่งให้ระงับการตัดจากในที่พิพาท เมื่อคู่ความมาศาลพร้อมแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างแถลงว่าจะไม่เข้าไปตัดจากในที่พิพาทซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าเป็นของตน ถ้าฝ่ายใดผิดข้อตกลงยอมให้ปรับครั้งละ 1,000 บาท ต่อมาคดีนั้นศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยฟังว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท การที่โจทก์ไม่สามารถเข้าตัดจากได้ในระหว่างคดีก่อน เป็นเรื่องโจทก์ตกลงยินยอมโดยสมัครใจ ถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่ง จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์สองครั้งคือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2509 จำเลยที่ 2 แจ้งความเท็จต่อนายอำเภอบ้านแพ้วว่า สามีโจทก์บุกรุกที่ดินของจำเลยที่ 1 นายอำเภอบ้านแพ้วหลงเชื่อได้มีคำสั่งห้ามสามีโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดิน โจทก์และสามีโจทก์จึงต้องงดเว้นเข้าตัดจากในที่ดินนั้นตั้งแต่วันนั้น ครั้งที่สองต่อมาจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรสาครว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องและเรียกค่าเสียหาย ผลที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว ศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำสั่งห้ามมิให้คู่ความเข้าตัดจากและฟืนในที่พิพาท ฝ่ายใดฝ่าฝืนจะถูกปรับ คู่ความจึงงดเว้นการตัดจากและฟืนในที่พิพาทการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหาย

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งนั้น โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าจะไม่เข้าไปตัดจากด้วยกันทั้งสองฝ่ายในขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณา จึงเป็นความสมัครใจของโจทก์เองที่ไม่เข้าไปตัดจากและไม่ติดใจเอาค่าเสียหาย

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิ และคดีขาดอายุความ ส่วนการฟ้องคดีแพ่งนั้นเป็นการใช้สิทธิทางศาล และคู่ความตกลงกันว่าจะไม่ตัดจาก เป็นเรื่องโจทก์สมัครใจ การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นละเมิดพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นสั่งสืบพยานแล้วงดการสืบพยานเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อให้คดีเสร็จไปโดยไม่ชักช้า เฉพาะคดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การคดีพอวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานต่อไป

ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายการกระทำละเมิดของจำเลยในครั้งแรกว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2509 จำเลยที่ 2 นำความเท็จไปแจ้งต่อนายอำเภอบ้านแพ้วว่าสามีโจทก์บุกรุกที่ของจำเลยที่ 1 นายอำเภอหลงเชื่อมีคำสั่งห้ามมิให้โจทก์กับสามีเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้โจทก์และสามีต้องงดเว้นเข้าไปตัดจากตั้งแต่วันนั้นมา ตามคำฟ้องของโจทก์เองแสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2509 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความ อายุความละเมิดจึงเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น ไม่ใช่นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดครั้งแรกจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก

ส่วนข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดครั้งที่สองนั้น ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเป็นคดีแพ่งศาลมีคำสั่งห้ามมิให้คู่ความตัดจากและฟืนในที่พิพาท ได้ความว่ามูลเหตุที่ทำให้โจทก์ต้องงดเว้นเข้าไปตัดจากในที่พิพาทเนื่องจากจำเลยที่ 1 (โจทก์ในคดีนั้น) ยื่นคำร้องต่อศาลว่าโจทก์ (จำเลยคดีนั้น) ให้บุตรสาวเข้าไปตัดจากในที่พิพาท ขอให้ศาลเรียกมาสั่งให้ระงับการตัดจากในที่พิพาท เมื่อคู่ความมาศาลพร้อมกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างแถลงว่าจะไม่เข้าไปตัดจากในที่พิพาทซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าเป็นของตน ถ้าฝ่ายใดผิดข้อตกลงยอมให้ปรับครั้งละ 1,000 บาท ต่อมาคดีนั้นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาต้องกันให้โจทก์ (จำเลยในคดีนั้น) ชนะคดีโดยฟังว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จะไม่เข้าไปตัดจากในที่พิพาทดังกล่าวมานั้น เป็นเรื่องโจทก์ตกลงยินยอมโดยสมัครใจ ไม่เข้าไปตัดจากในที่พิพาทเอง และคงติดใจเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายในเมื่ออีกฝ่ายทำผิดข้อตกลงเข้าไปตัดจากในที่พิพาทครั้งละ 1,000 บาทเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้ทำผิดข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายได้ ฉะนั้นจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้

พิพากษายืน

Share