คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 709/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับกรมศุลกากรจำเลยคืนเงินอากรขาเข้าของโจทก์ที่วางเป็นประกันไว้แล้วเหลืออยู่จากจำเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับมิได้
การเปรียบเทียบปรับโดยอธิบดีตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 102 ก็ดี หรือโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบตามมาตรา 102ทวิ ก็ดี จะต้องปรากฏว่าผู้จะถูกฟ้องได้ยินยอมและใช้ค่าปรับตามที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบได้เปรียบเทียบด้วยจึงจะชอบ
กรมศุลกากรจำเลยเห็นว่าโจทก์มีความผิดฐานสำแดงเท็จชนิดและราคาสินค้าผ้าเพื่อหลีกเลี่ยงอากร จึงเสนอคณะกรรมการเปรียบเทียบพิจารณาปรับโจทก์สองเท่าของอากรที่ขาด คณะกรรมการเปรียบเทียบมีมติเห็นชอบด้วย แล้วนิติกรของจำเลยได้มีหนังสือเรียกโจทก์มาทำความตกลงตามมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบ แต่โจทก์ไม่มาติดต่อจำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีดังนี้ แสดงว่าโจทก์หาได้ยินยอมตามที่เปรียบเทียบและใช้ค่าปรับแต่อย่างใดไม่ส่วนที่โจทก์ทำสัญญาทัณฑ์บนไว้กับกรมศุลกากรจำเลยพร้อมกับนำหลักฐานสัญญาค้ำประกันของธนาคารมาวางค้ำประกันไว้ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ขอรับสินค้าที่ถูกกักไว้เพื่อไปจำหน่าย มิใช่เรื่องที่โจทก์ยินยอมให้ปรับ จำเลยจึงไม่มีอำนาจสั่งปรับโจทก์ และจะหักเงินประกันค่าอากรขาเข้าซึ่งเหลืออยู่ที่จำเลยชำระค่าปรับไม่ได้ต้องคืนให้โจทก์ไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งสินค้าผ้าเข้ามา โจทก์ได้วางเงินประกันอากรขาเข้าและภาษีการค้ารวม 90,000 บาทให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรไว้แล้ว ต่อมากรมศุลกากรเรียกอากรขาเข้าจากโจทก์เพิ่มอีกจากที่โจทก์ยื่นประเมินไว้ รวมเป็นอากรขาเข้า 65,942.45 บาท โจทก์ยอมเสียอากรขาเข้าตามที่เรียกเก็บใหม่นี้แต่โจทก์ได้วางเงินประกันอากรขาเข้าไว้ 76,800 บาท จึงยังเหลือเงินอีก 10,857.55 บาท แทนที่กรมศุลกากรจะคืนเงินดังกล่าว กลับสั่งปรับอีก 50,724.96 บาท โดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 10,457.55 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า กรมศุลกากรเห็นว่าโจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงสั่งปรับ 2 เท่าของอากรที่ขาด เป็นเงินค่าปรับ 50,724.96 บาท การที่ให้งดดำเนินคดีแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102, 102 ทวิ นั้น เนื่องจากคณะกรรมการเปรียบเทียบมีมติให้ปรับโจทก์เป็นเงิน 25,362.48 บาท ซึ่งโจทก์ให้ธนาคารประกันโจทก์ไว้ และโจทก์ทำทัณฑ์บนต่อกรมศุลกากรแล้ว จำเลยกระทำไปโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 10,857.55 บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ยก

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินอากรขาเข้าของโจทก์ที่วางเป็นประกันไว้แล้วเหลืออยู่จากจำเลย ไม่ใช่เป็นเรื่องเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ฉะนั้น จึงนำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับในกรณีนี้มิได้

ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยสั่งปรับโจทก์และหักเงินค่าประกันชำระค่าปรับเป็นการกระทำตามอำนาจและหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายนั้นข้อนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์สำแดงน้ำหนักของสินค้าและชนิดของผ้าที่นำเข้ามาในใบขนสินค้าขาเข้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรโดยเสียน้อยลง และโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 99 กรมศุลกากรจึงสั่งปรับโจทก์ตามมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบ 2 เท่าของอากรที่ขาด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102, 102 ทวิ ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งมาตรา 102 ทวิ ถ้าบุคคลใดจะต้องถูกฟ้องตามพระราชบัญญัตินี้และบุคคลนั้นยินยอมและใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลงหรือทำทัณฑ์บนหรือให้ประกันตามที่อธิบดีจะเห็นสมควรแล้ว อธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ ฯลฯ ” และตามมาตรา 102 ทวิ บัญญัติว่า “สำหรับความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พุทธศักราช 2490 และมาตรา 31, 36 และ 96 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 และมาตรา 5, 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2480 ถ้าราคาของกลางรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเกินกว่าสี่หมื่นบาท ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมศุลกากรผู้แทนกระทรวงการคลังและผู้แทนกรมตำรวจที่จะเปรียบเทียบและงดการฟ้องร้อง ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า การเปรียบเทียบปรับโดยอธิบดีตามมาตรา 102 ก็ดี หรือโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบตามมาตรา 102 ทวิ ก็ดี จะต้องปรากฏว่าผู้จะถูกฟ้องได้ยินยอมและใช้ค่าปรับตามที่ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบได้เปรียบเทียบด้วยจึงจะชอบ แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า กรมศุลกากร จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีความผิดฐานสำแดงเท็จชนิดและราคาผ้าต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงอากร จึงเสนอคณะกรรมการเปรียบเทียบพิจารณาปรับโจทก์ 2 เท่าของอากรที่ขาดเป็นเงิน 50,724.96 บาท ซึ่งคณะกรรมการเปรียบเทียบมีมติเห็นชอบด้วย นายสุวพจน์นิติกรตรีพนักงานของกรมศุลกากร จำเลยที่ 1 จึงได้มีหนังสือเรียกโจทก์มาทำความตกลงตามมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบ แต่โจทก์ไม่มาติดต่อกรมศุลกากร จำเลยที่ 1 จึงส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวจึงแสดงว่าการที่กรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ปรับโจทก์ 2 เท่าของอากรที่ขาดตามมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบนั้นโจทก์มิได้ยินยอมตามที่ได้เปรียบเทียบและใช้ค่าปรับแต่อย่างใด และที่โจทก์ทำสัญญาทัณฑ์บนไว้กับกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 พร้อมกับนำหลักฐานสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด เพื่อค้ำประกันเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2512 ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น ก็ฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อความในสัญญาทัณฑ์บนได้ระบุไว้ชัดว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ขอรับสินค้าที่ถูกกักไว้ 2 หีบเพื่อนำไปจำหน่าย หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ยินยอมให้ปรับข้อหาฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรตามที่จำเลยอ้างไม่ นอกจากนี้จะเห็นได้อีกวาโจทก์ได้ทำสัญญาทัณฑ์บนตัวต่อกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 ก่อนที่คณะกรรมการเปรียบเทียบจะมีมติให้ปรับโจทก์เพื่อระงับคดี โดยเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 เพิ่งมีความเห็นให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2513 ตามเอกสารหมาย ล.2 ย่อมเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับและใช้ค่าปรับ ดังนั้น กรมศุลากรจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจสั่งปรับโจทก์ข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรและหักเงินค่าประกันชำระค่าปรับไว้ได้ ต้องคืนเงินให้โจทก์ตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share