คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลักเกณฑ์การประกันภัยสากลในเรื่องรับประกันชีวิตบุคคลผู้มีอายุเกิน 40 ปีนั้น เป็นวิธีปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจเพื่อความมั่นคงของบริษัทรับประกันภัยหาใช่เกณฑ์คำนวณค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันแท้จริง อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งมีอายุ 53 ปี ไม่ควรได้รับค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุเสื่อมเสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากการทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์โดยสารรถประจำทางของจำเลยซึ่งมีนายสายอน จักระนองลูกจ้างเป็นคนขับในทางการที่จ้างของจำเลย นายสายอนขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด รถส่ายหน้าหวาดเสียวและแฉลบพลิกคว่ำ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแพทย์ต้องตัดขาทั้งสองข้าง ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ขาดรายได้อย่างต่ำเดือนละ 1,000 บาท นายสายอน หลบหนี จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องรับผิดร่วมด้วย ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยเป็นเวลา 10 ปีเป็นเงิน 120,000 บาท

จำเลยให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทอย่างร้ายแรงของโจทก์เองและเกิดจากเหตุสุดวิสัย เพราะรถวิ่งด้วยความเร็วปกติ ระบบห้ามล้อชำรุดอย่างกระทันหันคนขับไม่สามารถบังคับรถให้หยุดได้ ต้องอาศัยขอบวงเวียนเพื่อบังคับให้รถหยุด เป็นเหตุให้รถพลิกตะแคง จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัย โจทก์ไม่มีส่วนประมาทค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องพอสมควร พิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน120,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุเกิดเพราะนายสายอนขับรถประมาท จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์อายุ 53 ปีมิได้มีส่วนประมาทด้วยค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องจำนวนพอสมควร ส่วนที่จำเลยอ้างหลักเกณฑ์การประกันภัยสากลในเรื่องรับประกันชีวิตบุคคลผู้มีอายุเกิน 40 ปี เพื่อแสดงว่าโจทก์ไม่ควรเรียกเงินได้ถึง 10 ปีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นวิธีปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ เพื่อความมั่นคงของบริษัทรับประกันภัย หาใช่เกณฑ์คำนวณค่าสินไหมทดแทน เพื่อความเสียหายอันแท้จริงไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share