แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยออกเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ เป็นเช็คขีดคร่อมออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์ได้ฝากให้เพื่อนของโจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินเพราะโจทก์ไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคารซึ่งมีความหมายว่าเมื่อเพื่อนของโจทก์เรียกเก็บเงินได้ต้องนำเงินมามอบให้โจทก์ หากเรียกเก็บเงินไม่ได้เพื่อของโจทก์จะคืนเช็คให้โจทก์ จึงต้องถือว่าเพื่อนของโจทก์เป็นตัวแทนของโจทก์ ดังนั้น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ซึ่งตัวการจึงยังเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็ค 4 ฉบับให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงิน แต่จำเลยไม่ชำระ การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็ค ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งสยามทรานสปอร์ต จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 4 ฉบับ ในนามของห้างจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เช็คตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 และ จ.3 มีขีดคร่อมว่า เพื่อนำเข้าบัญชีธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาปากคลองตลาด กับเช็คตามเอกสารหมาย จ.4ขีดคร่อมว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาปากคลองตลาด เช็คทั้ง 4 ฉบับ เป็นเช็คออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์ไม่ได้เรียกเก็บเงินด้วยตนเอง แต่ได้เอาไปฝากนายวิรินเหลืองวิริยะแสง และนายฮ้อ หรือ ตี๋ เพื่อนของโจทก์ในกรุงเทพมหานคร นำเข้าบัญชีของบุคคลดังกล่าวเพื่อเรียกเก็บเงิน เพราะโจทก์อยู่จังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีบัญชีเงินฝากในธนาคารที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความหมายว่าเมื่อเพื่อนของโจทก์ทั้งสองเรียกเก็บเงินได้ต้องนำเงินมามอบให้โจทก์ หากเรียกเก็บเงินไม่ได้ เพื่อนของโจทก์ทั้งสองก็จะคืนเช็คให้โจทก์ เช่นนี้จึงต้องถือว่าเพื่อนของโจทก์ทั้งสองคนนั้นเป็นตัวแทนของโจทก์ในการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้ง 4 ฉบับ ฉะนั้น เมื่อตัวแทนของโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคาร และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยแจ้งว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย โจทก์ซึ่งเป็นตัวการจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ชอบแล้ว
พิพากษายืน