แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่าจำเลยจ้างโจทก์โดยมีการทดลองงานและจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน การที่ศาลแรงงาน พิเคราะห์เอกสารสัญญาจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็เพื่อวินิจฉัยตามคำท้าว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีการทดลองงานหรือไม่และการที่ศาลแรงงานพิเคราะห์คำว่า พนักงานทดลองงาน และคำว่าพนักงานสัญญาจ้าง ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนแต่มิใช่ เป็นการทดลองงานเป็นการวินิจฉัยคดีตามคำท้าว่าจำเลยจ้างโจทก์โดยมีการทดลองงานหรือไม่ ตรงตามคำท้าแล้ว
จำเลยแพ้คดีตามคำท้า โดยจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานและจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่สำหรับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ศาลแรงงานต้องใช้ดุลพินิจกำหนดให้โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเต็มตามฟ้องให้แก่โจทก์โดยมิได้พิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ชอบสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานด้านเทคนิคได้รับอัตราค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ40,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 17 มกราคม2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ขอคิดค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยคิดจากอัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นเวลา 18 เดือน คิดเป็นเงิน 720,000 บาท และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 39 วัน คิดเป็นเงิน51,999 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 771,999 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ในวันพิจารณาและสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยสัญญาจ้างที่โจทก์อ้างส่งศาลแรงงานกลางประกอบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่จำเลยอ้างส่งศาลแรงงานกลางไว้พร้อมกับคำให้การว่าการที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์นั้นเป็นการว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างหรือเป็นเพียงการทดลองงานโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน หากศาลแรงงานกลางเห็นว่า เป็นการรับโจทก์เข้าทดลองงานให้ถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การจำเลยโจทก์ยอมแพ้ แต่หากศาลแรงงานกลางเห็นว่าเป็นการรับโจทก์เข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างมิใช่เป็นเพียงการทดลองงาน ให้ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ จำเลยยอมแพ้ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ประกอบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.1 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตามเอกสารหมาย จ.1 โดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่ไม่มีกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการทดลองงาน จึงมิใช่การทดลองงาน จำเลยต้องแพ้ตามคำท้า พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน771,999 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยตรงตามคำท้าหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางยกเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 45.2 อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าชดเชยกับยกเอาคำว่าพนักงานทดลองงานและพนักงานสัญญาจ้างตามเอกสารดังกล่าวมาวิเคราะห์แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลามิใช่เป็นการทดลองงาน จึงไม่ตรงตามคำท้าที่ท้ากันให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างหรือเป็นเพียงการทดลองงาน เห็นว่า จำเลยให้การฉบับลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์2543 ว่าจำเลยจ้างโจทก์โดยมีการทดลองงานและจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน การที่ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.1 ก็เพื่อวินิจฉัยตามคำท้าว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีการทดลองงานหรือไม่ และการที่ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์คำว่า พนักงานทดลองงานและคำว่าพนักงานสัญญาจ้างในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมายล.1 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานโดยมีกำหนดระยะเวลาแน่นอนแต่มิใช่เป็นการทดลองงานนั้นเป็นการวินิจฉัยคดีตามคำท้าว่าจำเลยจ้างโจทก์โดยมีการทดลองงานหรือไม่ นั่นเอง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงตรงตามคำท้าแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสองของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์จำนวน 771,999 บาท เต็มตามฟ้องชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้คู่ความตกลงท้ากันว่า หากจำเลยแพ้คดีตามคำท้า ถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์หมายความว่า จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ตำแหน่งผู้จัดการโรงงานด้านเทคนิคโดยไม่มีการทดลองงานโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 40,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือนต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2543 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นถือว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายตามจำนวนในฟ้องแก่โจทก์ และจำเลยก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในข้อนี้ ส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ศาลแรงงานกลางต้องใช้ดุลพินิจกำหนดให้โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเต็มตามฟ้องให้แก่โจทก์โดยมิได้พิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเต็มตามฟ้องโดยให้ศาลแรงงานกลางพิเคราะห์กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง