คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2552/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2518 มาตรา 3 ยอมให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต นำไปขอรับอนุญาตได้ภายใน 90 วัน โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้จึงไม่ถูกต้อง และในปัญหาดังกล่าวนี้แม้จะไม่มีประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์และร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ริบของกลาง

จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 จำคุกคนละ 20 ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 7, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 10 ปี 3 เดือน ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนของกลาง คืนเข็มขัดนากของกลางให้ผู้เสียหาย กับให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนอีก 500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และพวกกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3 ยอมให้ผู้มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต นำไปขอรับอนุญาตได้ภายใน 90 วัน โดยผู้นั้นไม่ต้องรับโทษจึงต้องถือว่าในระหว่างนั้นกฎหมายยกเว้นโทษให้แก่จำเลย แสดงว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิดและพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้พระราชบัญญัตินี้มาปรับคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรกจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้ จึงไม่ถูกต้อง และในปัญหาดังกล่าวนี้แม้จะไม่มีประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share