คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์สอบถามเพื่อซื้อสินค้าจากจำเลย จำเลยวางเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องชำระราคาเป็นเงินสด 15% พร้อมกับใบสั่งสินค้าหลังจากนั้นโจทก์ ได้ติดต่อขอลดราคาและขอให้ยื่นราคาต่อไปอีกจำเลยกำหนดให้โจทก์ชำระราคาเป็นเงินสดภายใน 4 วัน หลังจากการส่งมอบโดยมีธนาคารค้ำประกันไม่ได้กล่าวถึงการวางเงินสด 15% อีก โจทก์สั่งซื้อสินค้าจำเลยตอบรับว่าจะส่งสินค้าให้ ดังนี้สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นแล้วจำเลยจะอ้างว่าสัญญายังไม่มีผลผูกพันเพราะโจทก์ไม่ได้ชำระเงิน 15% หาได้ไม่
ในระยะเวลาที่จำเลยสัญญาว่าจะส่งสินค้าให้โจทก์ดังกล่าวโจทก์ได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบถึงสองคราวว่าสินค้าดังกล่าว โจทก์ได้ตกลงขายต่อให้กับลูกค้าแล้วหากจำเลยส่งสินค้าดังกล่าวล่าช้าไม่ทันกำหนดโจทก์จะต้องถูกปรับจำเลยผิดสัญญาโจทก์ถูกลูกค้าปรับค่าปรับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วจำเลยจึงต้องรับผิด ในค่าปรับดังกล่าวด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยเสนอซื้อหัวรถยนต์สำหรับลากเทรลเล่อร์ (รถพ่วง) จำนวน 3 คันเพื่อขายให้แก่กรมชลประทาน ให้จำเลยส่งมอบภายใน 180 วัน โจทก์จะชำระราคาภายใน 45 วันนับแต่วันรับมอบรถ และโจทก์ได้รับหนังสือตอบสนองรับคำเสนอซื้อของจำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยกลับมีหนังสือแจ้งยกเลิกการซื้อขายกับโจทก์โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะทำได้ ทำให้โจทก์เสียหายคือขาดกำไรที่ควรได้รับจากรถ 3 คันเป็นเงิน77,100 บาท โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อหัวรถยนต์ 3 คันสูงขึ้นเป็นเงิน147,900 บาท โจทก์ถูกกรมชลประทานปรับเดือนละ 63,105 บาท ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 145,141 บาท 50 สตางค์ รวมค่าเสียหายถึงวันฟ้องเป็นเงิน 370,141 บาท 50 สตางค์ และจะต้องถูกปรับจนกว่าได้รับหัวรถยนต์จากบริษัทใหม่ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 370,141 บาท 50 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า โจทก์เคยติดต่อสอบถามราคาและเงื่อนไขเพื่อจะซื้อหัวรถยนต์ลากรถเทรลเล่อร์ (รถพ่วง) จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบรายละเอียด ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งว่าโจทก์จะสั่งซื้อหัวรถยนต์ลากเทรลเล่อร์โดยไม่ชำระเงินมัดจำถือว่าเป็นใบสั่งซื้อที่ไม่แน่นอน จึงมีหนังสือถึงโจทก์ยกเลิกการสั่งซื้อ จำเลยไม่ผิดสัญญาจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายหัวรถยนต์ลากรถเทรลเล่อร์กับกรมชลประทานโจทก์ไม่เสียหาย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 432,525 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 24 มกราคม 2518 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าให้จำเลยใช้เงิน 59,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยมีขึ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า เดิมเมื่อโจทก์ติดต่อสอบถามราคาและรายละเอียด เกี่ยวกับหัวรถลากเทรลเล่อร์จากจำเลย จำเลยวางเงื่อนไขไว้ว่าโจทก์จะต้องชำระราคาเป็นเงินสด 15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมใบสั่งตามเอกสารหมาย ล.1 ก่อนจำเลยจึงจะตกลงส่งของให้โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้ติดต่อกับจำเลยขอลดราคาและขอให้ยื่นราคาต่อไปอีกตามเอกสารหมาย ล.2 จำเลยตอบตามเอกสาร ล.3 ว่า ลดราคาไม่ได้ ส่วนการจ่ายเงินนั้น กำหนดให้โจทก์ชำระเป็นเงินสดภายใน 45 วันหลังจากวันส่งมอบ การจ่ายเงินต้องมีหนังสือค้ำประกันของธนาคาร เงื่อนไขที่กำหนดให้โจทก์ชำระเงินสด 15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมใบสั่งที่จำเลยกำหนดไว้ในครั้งแรกตามเอกสารหมาย ล.1 นั้นมิได้กล่าวถึง แสดงว่าจำเลยผ่อนปรนต่อโจทก์ โดยให้โจทก์มีหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินจากธนาคารเท่านั้น ไม่ต้องชำระเงินสด 15 เปอร์เซ็นต์พร้อมใบสั่งก่อน ต่อมาโจทก์มีหนังสือคือเอกสารหมาย จ.4 (ล.5) ให้จำเลยส่งของตามเงื่อนไขที่จำเลยตอบโจทก์คือเอกสารหมาย ล.3 ดังนี้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยได้มีขึ้นแล้ว ที่เห็นได้ชัดก็คือ หลังจากโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 29 สิงหาคม 2516 ให้จำเลยส่งของต่อมาวันที่ 21 กันยายน2516 จำเลยมีหนังสือท้าวความถึงหนังสือของโจทก์ดังกล่าวใจความสำคัญว่า จำเลยได้รับใบสั่งซื้อของโจทก์ดังกล่าวแล้ว และยืนยันพร้อมที่จะส่งรถตามที่โจทก์สั่งซื้อให้กับโจทก์ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2516เป็นต้นไปจำเลยมิได้ปฏิเสธไม่ส่งของให้โจทก์โดยอ้างเหตุที่โจทก์มิได้ชำระราคา 15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมใบสั่งดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2516 จำเลยมีหนังสือเอกสารหมาย ล.7 ขอยกเลิกการสั่งรถ เหตุที่ขอยกเลิกอ้างแต่เพียงว่า เนื่องจากมีเหตุขัดข้องบางประการมิได้อ้างว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในข้อที่ว่าโจทก์จะต้องชำระราคาเป็นเงินสด15 เปอร์เซ็นต์ พร้อมใบสั่งกระทั่งเวลาล่วงมาถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2516 จำเลยจึงมีหนังสือเอกสารหมาย ล.8 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงิน 15 เปอร์เซ็นต์ ของราคาสินค้า ถือว่ายังไม่มีผลผูกพันในการซื้อขายต่อกัน และอ้างว่าได้เกิดวิกฤติกาลในการผลิตสินค้าของบริษัทผู้ผลิตฉะนั้นจึงแจ้งยืนยันยกเลิกหนังสือเสนอราคาซื้อของจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่มีต่อกันนั้นฟังไม่ขึ้น

เกี่ยวกับค่าเสียหายที่จำเลยไม่ส่งสินค้าให้โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ถูกกรมชลประทานปรับนั้น เห็นว่าขณะเกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยจำเลยไม่ทราบว่าถ้าจำเลยไม่ส่งสินค้าให้โจทก์ โจทก์จะถูกกรมชลประทานปรับก็จริงอยู่ แต่ระหว่างที่จำเลยสัญญาว่า จะส่งสินค้าให้โจทก์ภายใน 180 วันนั้นเอง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.5 ว่า สินค้า (หัวรถสำหรับลากเทรลเล่อร์) ที่โจทก์สั่งซื้อจากจำเลยนั้น โจทก์ได้ขายต่อให้กับลูกค้าแล้ว หากจำเลยส่งของดังกล่าวช้ากว่ากำหนดที่ตกลงกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกปรับ จำเลยจะต้องรับผิดชอบในการถูกปรับนี้ด้วยนอกจากนี้เมื่อใกล้จะครบกำหนดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์ยังมีหนังสือเอกสารหมาย จ.8 แจ้งให้จำเลยทราบว่า หากจำเลยส่งของไม่ทันตามกำหนด โจทก์จะต้องถูกปรับร้อยละห้าของยอดเงินขายทั้งหมดเห็นว่า ค่าปรับที่โจทก์จะต้องถูกกรมชลประทานปรับนั้นเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดค่าปรับดังกล่าวเป็นเงินเท่าใดนั้นได้ความว่าโจทก์ไม่อาจส่งมอบของให้แก่กรมชลประทานภายในกำหนดโจทก์จะต้องถูกปรับร้อยละ 5 ต่อเดือนของราคาที่โจทก์ขายให้แก่กรมชลประทาน (คือราคาที่ศาลกำหนดว่า โจทก์ควรได้กำไรร้อยละ 5 ของราคาที่ซื้อจากจำเลย) คิดเป็นเงินคันละ 414,750 บาท ค่าปรับร้อยละ 5 ต่อเดือนเป็นเงิน 20,737 บาท 50 สตางค์ รวม 3 คันเป็นเงินค่าปรับเดือนละ 62,212 บาท 50 สตางค์ ค่าปรับจากวันที่ 26 กรกฎาคม 2517 ถึงวันที่ 24 มกราคม 2518 เป็นเงิน 373,275 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ373,275 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share