คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ จำเลยทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินกันในสัญญาข้อ 8 ระบุว่า จำเลยจะเซ็นหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวม 4 คำขอ และจำเลยได้เซ็นหนังสือยินยอมให้โจทก์ตามสัญญา โดยแยกทำหนังสือยินยอม 1 ฉบับ ต่อคำขอของโจทก์ 1 คำขอโจทก์ได้นำหนังสือยินยอมดังกล่าวไปยื่นประกอบคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อเจ้าหน้าที่กองเครื่องหมายการค้า หลังจากนั้นโจทก์ได้ขอยืมหนังสือยินยอมของจำเลยจากเจ้าหน้าที่มาจัดการขูดลบ แก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมเป็นระบุหมายเลขคำขอโจทก์ 4 เลขหมายที่ จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ตามสัญญาต่อหนังสือยินยอมของจำเลย 1 ฉบับ โดยมิได้เพิ่มเติมเลขหมายคำขอให้มีจำนวนมากขึ้นและมิได้เปลี่ยนแปลงเนื้อความอื่นให้ผิดไปจากเดิมอันจะทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใดซึ่งโจทก์ได้ทำไปโดยพลการปราศจากการรู้เห็นยินยอมของจำเลย แล้วโจทก์นำหนังสือยินยอมของจำเลยที่แก้ไขนั้นไปยื่นใหม่ เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีรอยขูดลบ แก้ไข จึงมีหนังสือให้โจทก์นำจำเลยไปยืนยันและเซ็นชื่อกำกับข้อความที่แก้ไขเพราะสงสัยว่าจะไม่ใช่หนังสือยินยอมอันแท้จริงของจำเลย ดังนี้จำเลยมีหน้าที่ต้องทำหนังสือยืนยันและไปลงชื่อกำกับรอยแก้ไขในหนังสือยินยอมให้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้น จำเลยจะอ้างว่าได้เซ็นหนังสือยินยอมให้โจทก์แล้ว จึงหมดความผูกพันตามสัญญาหาได้ไม่ เพราะการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับพิจารณาหนังสือยินยอมของจำเลย เท่ากับว่ายังขาดหนังสือยินยอมของจำเลยนั่นเอง คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่บรรลุผลสำเร็จตามที่ตกลงกันในสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในสัญญาข้อ 8 ระบุว่า จำเลยจะต้องเซ็นหนังสือยินยอมให้โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 84778, 84779, 84894 ซึ่งโจทก์ได้ยื่นคำขอไว้ที่กองเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ จำเลยได้เซ็นหนังสือยินยอมให้โจทก์จดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวครั้งหนึ่งแล้วแต่เมื่อโจทก์นำหนังสือยินยอมดังกล่าวไปยื่น เจ้าหน้าที่กองเครื่องหมายการค้ามีหนังสือมายังโจทก์แจ้งว่า “ให้ผู้ให้ความยินยอมทำหนังสือยืนยันว่าหนังสือยินยอมที่ยื่นไปนั้นถูกต้อง และให้ไปลงชื่อกำกับรอยแก้ไขในหนังสือนั้นด้วย”โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปยืนยันต่อเจ้าหน้าที่กองเครื่องหมายการค้าว่า ยินยอมเช่นนั้นจริง จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับ ฯลฯ

จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องจริงและจำเลยได้ลงนามในต้นฉบับเอกสารเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาข้อ 8แล้ว จำเลยจึงหมดพันธะต่อโจทก์อีก โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยอีกได้ความจริง โจทก์ได้สมคบกับพวกนำต้นฉบับเอกสารที่ได้ยื่นต่อกองเครื่องหมายการค้าแล้ว ไปปลอมแปลงเอกสารแก้ไขเลขที่คำขอจากเอกสารใบละ 1 คำขอเป็น 4 คำขอไม่ตรงกับเจตนาของจำเลยจึงทำให้เอกสารมีรอยแก้ไขเพิ่มเติมขอให้ยกฟ้อง

วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงรับว่าจำเลยได้ยอมให้โจทก์ใช้ทะเบียนเครื่องหมายการค้าหมายเลขตามฟ้อง และหมายเลข 85313 จริงแต่ให้เป็นใบ ๆ ไม่ได้รวมกัน โจทก์ไปลบของเดิมแล้วกรอกรวมกันไม่ตรงกับความประสงค์ของจำเลย เป็นการแก้ไข

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปทำหนังสือยืนยันว่ายินยอมให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอตามฟ้อง พร้อมกับเซ็นชื่อกำกับในหนังสือยินยอมที่ยื่นไว้แล้ว ถ้าจำเลยไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ฯลฯ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ฯลฯ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาแบ่งทรัพย์สินข้อ 8 นั้น เป็นที่เข้าใจได้ในตัวว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องเซ็นหนังสือยินยอมให้โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 84778, 84779 และ 84894 ให้เป็นผลสำเร็จลุล่วงไป ปรากฏว่าหนังสือยินยอมที่จำเลยกระทำให้โจทก์ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่นั้นโจทก์นำไปขูดลบแก้ไขตกเติมโดยพลการปราศจากการรู้เห็นยินยอมของจำเลยแต่ก็เห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิมที่ระบุเลขหมายคำขอของโจทก์1 เลขหมายต่อหนังสือยินยอมของจำเลย 1 ฉบับ เป็นระบุเลขหมายคำขอของโจทก์ 4 เลขหมายต่อหนังสือยินยอมของจำเลย 1 ฉบับ เลขหมายคำขอของโจทก์ที่แก้ไขแล้วระบุเพิ่มเติมลงในหนังสือยินยอมของจำเลยก็เป็นเลขหมายเดียวกับที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้นั่นเอง หาใช่ว่าโจทก์ได้เพิ่มเติมเลขหมายคำขอของโจทก์ให้มีจำนวนมากขึ้นกว่าที่จำเลยตกลงยินยอมอันทำให้จำเลยเสียหายไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับพิจารณาหนังสือยินยอมของจำเลยที่มีรอยขูดลบแก้ไข โดยสงสัยว่าจะไม่ใช่หนังสือยินยอมอันแท้จริงของจำเลยจำเลยมีหน้าที่ต้องทำหนังสือยืนยันและไปลงชื่อกำกับรอยแก้ไขในหนังสือยินยอมให้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้น จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเซ็นหนังสือยินยอมให้โจทก์แล้วจึงหมดความผูกพันตามสัญญาแล้วหาได้ไม่ เพราะการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับพิจารณาหนังสือยินยอมของจำเลยเท่ากับว่ายังขาดหนังสือยินยอมของจำเลยนั่นเอง คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงยังไม่บรรลุผลสำเร็จตามที่ตกลงกันในสัญญา ฯลฯ

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฯลฯ

Share