คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1738/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัมปทานบัตรเพื่อการลงทุนประกอบการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในที่ดินที่กระทรวงมหาดไทยจำเลยออกให้โจทก์ก็คือสัญญาระหว่างรัฐกับโจทก์ ทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ที่ จะต้องปฏิบัติต่อกันตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัมปทานบัตร และในส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้ก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉะนั้นแม้ไม่ได้ระบุถึงสิทธิของผู้รับสัมปทานในการที่จะขอยกเลิก สัมปทานบัตร ก็หาใช่ว่าโจทก์จะไม่มีสิทธิบอกเลิกไม่ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิ บอกเลิกสัมปทานบัตรแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และหากการบอกเลิก เป็นเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย จากจำเลยได้ด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สัมปทานบัตรที่จำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์ก็คือ สัญญาระหว่างรัฐกับโจทก์นั่นเอง ทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัมปทานบัตร และในส่วนที่สัมปทานบัตรไม่ได้ระบุไว้ ก็ต้องเป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ กล่าวโดยเฉพาะในกรณีนี้ก็คือ สิทธิในการขอยกเลิกสัมปทาน ซึ่งระบุไว้เฉพาะสิทธิของผู้ให้สัมปทานว่าจะยกเลิกหรือเพิกถอนสัมปทานบัตรได้ในกรณีใดบ้าง แต่ไม่ได้ระบุถึงสิทธิของผู้รับสัมปทานในการที่จะขอยกเลิกสัมปทานบัตร สิทธิของโจทก์ในการขอยกเลิกสัมปทานบัตรจึงมีอยู่เฉพาะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ หาใช่ว่าโจทก์จะไม่มีสิทธิบอกเลิกสัมปทานบัตรดังที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การไม่ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัมปทานบัตรแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391และหากว่าการบอกเลิกสัมปทานบัตรเป็นเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ด้วย

ปัญหาเรื่องจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัมปทานบัตรหรือไม่นั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ได้ปฏิบัติตนเป็นปฎิปักษ์ขัดขวางมิให้โจทก์เข้าดำเนินการในที่ดินสัมปทานของโจทก์โดยไม่ชอบด้วยข้อกำหนดในสัมปทานบัตรและกฎหมายเป็นการรอนสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์รายละเอียดปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า การที่จำเลยสั่งห้ามโจทก์เข้าดำเนินกิจการในที่ดินสัมปทานชั่วคราวนั้นเป็นการใช้อำนาจตามสัมปทานบัตร ข้อ 18

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยสั่งห้ามโจทก์เข้าดำเนินกิจการในที่ดินสัมปทานทั้งหมดหรือบางส่วนนั้น คู่ความได้โต้แย้งกันตลอดมาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าครอบครองหรือควบคุมกิจการสัมปทานทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดชั่วคราว โดยรัฐบาลเห็นว่า การกระทำกิจการที่ได้รับสัมปทานนี้จะเป็นเหตุกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกแห่งสาธารณชนหรือทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงภายในประเทศตามสัมปทานบัตรข้อ 18 หรือไม่ โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า ไม่ใช่กรณีที่จำเลยมีอำนาจกระทำได้ตามสัมปทานบัตรข้อ 18 แต่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำของจำเลยที่ขัดขวางมิให้โจทก์เข้าดำเนินกิจการในที่ดินสัมปทาน ส่วนจำเลยให้การว่าเป็นการเข้าครอบครองหรือควบคุมกิจการตามข้อ 18 ในสัมปทานบัตร ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นข้อนี้ไว้แล้วในข้อ 4 โดยให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการใช้อำนาจตามสัมปทานบัตรข้อ 18 นั้น เป็นการวินิจฉัยโดยฟังตามข้ออ้างของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ยังไม่ได้นำสืบหักล้าง

ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองอ้างสัมปทานบัตรข้อ 29 ว่าเมื่อสัมปทานบัตรถูกยกเลิกไปแล้ว ผู้รับสัมปทานจะยกเอาเหตุที่ต้องเลิกสัมปทานมาเป็นข้อเรียกร้องความเสียหายจากผู้ให้สัมปทานหรือรัฐบาลมิได้เป็นอันขาด เมื่อโจทก์บอกเลิกสัมปทาน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยนั้นเห็นว่าสัมปทานบัตรข้อ 29 มีข้อความว่า “ในการที่สัมปทานต้องถูกยกเลิกตามความในหมวดนี้ ผู้รับสัมปทานจะยกเอาเหตุที่ต้องเลิกสัมปทานมาเป็นข้อเรียกร้องความเสียหายจากผู้ให้สัมปทานหรือรัฐบาลมิได้เป็นอันขาด” ที่ว่าสัมปทานต้องถูกยกเลิกตามความในหมวดนี้ก็คือ หมวดที่ว่าด้วยการยกเลิกเพิกถอนและสิ้นอายุของสัมปทาน ซึ่งมีข้อความกำหนดไว้ว่าผู้ให้สัมปทานมีอำนาจยกเลิกหรือเพิกถอนสัมปทานบัตรในกรณีใดบ้างและ เฉพาะการยกเลิกหรือเพิกถอนสัมปทานบัตรในกรณีดังกล่าวเท่านั้นที่สัมปทานบัตรข้อ 29 ห้ามผู้รับสัมปทานเรียกร้องความเสียหายจากผู้ให้สัมปทานหรือรัฐบาลแต่คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์บอกเลิกสัมปทานบัตรโดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัมปทานบัตรและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย จึงจะนำสัมปทานบัตรข้อ 29 มาใช้บังคับไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงที่จะต้องฟังต่อไปว่า โจทก์บอกเลิกสัมปทานบัตรโดยจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัมปทานบัตรหรือไม่ถ้าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัมปทานบัตร โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด การที่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาคดีใหม่”

Share