คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดมิใช่จำนวนที่ตกลงไว้แน่นอนแม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาก็ตาม ฉะนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(8) ใช้บังคับสำหรับบุคคลผู้รับจ้างใช้การงานส่วนบุคคลเรียกร้องเอาเงินค่าจ้างเพื่อแรงงานที่ทำดังนั้นจึงใช้บังคับแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างองค์การของรัฐไม่ได้แต่เนื่องจากค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานของลูกจ้างอันถือเป็นเงินจ้างหรือค่าจ้าง กรณีจึงอยู่ในบังคับของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(8) พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นเรื่องอายุความเพียงข้อเดียวว่า กรณีของโจทก์ ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับเป็นเงินที่จำเลยเตียมไว้เพื่อรอการสั่งจ่าย ย่อมถือเป็นเงินค้างจ่ายต้องบังคับตามมาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ที่ศาลแรงงานกลางนำมาตรา 165(8) มาปรับใช้แก่กรณีของโจทก์ยังคลาดเคลื่อน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงินที่นายจ้างให้นอกเวลาทำงานตามปกติ และในวันหยุด ย่อมขึ้นอยู่กับนายจ้างว่ามีงานล่วงเวลาหรืองานในวันหยุดให้ลูกจ้างทำหรือไม่ และลูกจ้างได้ทำงานล่วงเวลาหรืองานในวันหยุดหรือไม่ ถ้าลูกจ้างได้ทำจึงจะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดแล้วแต่กรณีและการได้รับแต่ละครั้งอาจไม่เท่ากัน หรือบางครั้งไม่ได้รับเลยก็มี ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดจึงมิใช่จำนวนเงินที่ตกลงไว้แน่นอน แม้จะกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาก็ตาม ฉะนั้นจะนำบทบัญญัติมาตรา 166 มาปรับใช้แก่กรณีของโจทก์ไม่ได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลแรงงานกลางนำบทบัญญัติมาตรา 165(8) มาปรับนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้สำหรับบุคคลผู้รับจ้างใช้การงานส่วนบุคคล เรียกเอาเงินจ้างค่าจ้างเพื่อการงานที่ทำแต่กรณีของโจทก์ โจทก์เป็นลูกจ้างขององค์การเชื้อเพลิงต่อมาได้โอนมาเป็นของการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์การของรัฐ ไม่ใช่ผู้รับจ้างงานส่วนบุคคล ที่นำบทบัญญัติ มาตรา 165(8) มาปรับใช้ ยังเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่เนื่องจากค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานของลูกจ้างอันถือเป็นเงินจ้างหรือค่าจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) บัญญัติว่า “คนงาน ผู้ช่วยงาน ลูกมือฝึกหัดคนงานประจำโรงงานหัตถกรรม กรรมกรรายวันและช่างฝีมือ เรียกเอาเงินจ้างและเงินอื่นอันได้ตกลงกันว่าจะจ่ายให้แทน หรือให้เป็นส่วนหนึ่งของเงินจ้างรวมทั้งค่าที่ได้ออกเงินทดรองไป กับนายจ้างเรียกเอาเงินเช่นที่ว่านั้นอันตนจ่ายล่วงหน้าให้ไปแล้วนั้นก็ด้วยเหมือนกัน” เห็นว่า ต้องนำบทบัญญัติมาตรานี้มาใช้บังคับ มีอายุความ2 ปี คดีนี้โจทก์เรียกค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดซึ่งมีสิทธิได้รับในการทำงานในปี พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2518 แต่ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2523 เกินกำหนด 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และไม่มีเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9)”

พิพากษายืน

Share