คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2791/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตาม พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 กับข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์ แสดงว่าที่ประชุมใหญ่ของจำเลยมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดหลักเกณฑ์ในการ จ่ายเงินโบนัสได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้น การที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการดำเนินการของจำเลยให้จ่ายโบนัสแก่พนักงานโดยมีหลักเกณฑ์ว่าต้องมีตัวอยู่กับจำเลยในวันที่ที่ประชุมอนุมัตินั้น จึงอยู่ในอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบ

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์อุทธรณ์เป็นใจความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานไม่ว่านายจ้างจะกำหนดหรือคำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนด้วยวิธีอย่างไรและเรียกชื่ออย่างไร รวมทั้งเงินโบนัสหรือเงินรางวัลประจำปี ถือว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หากลูกจ้างมิได้ปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับซึ่งถือว่าเป็นสภาพการจ้างแล้ว ลูกจ้างจะต้องได้รับทุกคน และตามข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด จำเลย ข้อ 19(3) ก็แสดงให้เห็นว่ามุ่งจ่ายเงินโบนัสให้เป็นการตอบแทนการทำงานในปีที่ผ่านมาที่จำเลยมีมติให้จ่ายได้แล้วนั้นก็ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคน จำเลยไม่มีอำนาจนอกเหนือกฎหมายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสแก่พนักงานว่าจะต้องมีตัวปฏิบัติงานอยู่ในวันที่ที่ประชุมใหญ่อนุมัติ โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานอยู่เต็มปีช่วยเหลือให้จำเลยมีผลกำไร จึงต้องได้รับเงินโบนัสเช่นเดียวกับลูกจ้างอื่นด้วย

ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า อันเงินโบนัสจะถูกถือว่าเป็นค่าจ้างด้วยตามบทนิยามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ก็ตาม แต่การจ่ายเงินโบนัสนั้นก็ผิดแผกแตกต่างกับการจ่ายค่าจ้างตามปกติ จึงต้องพิจารณาว่าข้อผูกพันตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องเงินโบนัสมีอยู่อย่างไรปรากฏว่า พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 31 วรรคสอง บัญญัติว่า “กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจากการจัดสรรเป็นเงินสำรองและค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยแล้ว ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ดังต่อไปนี้ ฯลฯ(3) จ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ จำกัด ตามที่กำหนดในข้อบังคับ แต่ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ (4) ฯลฯ” และตามข้อบังคับของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด จำเลย ข้อ 19 มีความว่า “การจัดสรรกำไรสุทธิ เมื่อสิ้นปีทางบัญชีและได้งบบัญชีซึ่งหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามระเบียบ ค่าเสื่อมราคาแห่งทรัพย์สิน สำรองหนี้สูญและเงินค้างจ่ายต่าง ๆ ออกแล้วให้ใช้คืนเงินค้างขาดทุนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของกำไรประจำปี จึงถือว่าเป็นกำไรสุทธิ ซึ่งให้จัดสรรตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนที่เหลืออาจจัดสรรตามลำดับ ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (3) จ่ายเป็นโบนัสแก่กรรมการดำเนินการ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ประจำทั้งหลายของชุมนุมสหกรณ์ในอัตราไม่เกินที่กฎหมายกำหนด (4) ฯลฯ” และข้อ 33 มีความว่า “อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยกิจการและปัญหาทั้งปวงของชุมนุมสหกรณ์ และนอกจากอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่ได้กำหนดไว้ในส่วนอื่นใดของข้อบังคับนี้ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่รวมถึงข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ฯลฯ (6) พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี (7) ฯลฯ” ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายกับความในข้อบังคับดังกล่าวประกอบกัน แสดงให้เห็นว่า ที่ประชุมใหญ่ของจำเลยมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินโบนัสได้ตามแต่จะเห็นสมควร อีกทั้งในระหว่างโจทก์กับจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อผูกพันเกี่ยวกับเรื่องเงินโบนัสนี้ด้วยสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันใดอีก เพราะฉะนั้นการที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการดำเนินการของจำเลย ให้จ่ายโบนัสแก่พนักงานโดยมีหลักเกณฑ์ด้วยว่า ต้องมีตัวปฏิบัติงานอยู่กับจำเลยในวันที่ที่ประชุมใหญ่อนุมัตินั้น จึงอยู่ในอำนาจที่จะกระทำได้โดยชอบ”

พิพากษายืน

Share