คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีแพ่งกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยร่วมกันทุจริตเบียดบังข้าวสารของโจทก์ไป และขอให้ชดใช้เงินค่าข้าวสาร ซึ่งเป็นมูลคดีเดียวกับคดีอาญาซึ่งกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทุจริตเบียดบังข้าวสารของโจทก์ไป ขอให้ลงโทษและขอให้คืนหรือใช้ราคาข้าวสารเช่นเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีอาญาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกข้าวสารของโจทก์ไปคดีถึงที่สุดแล้ว ในการพิพากษาคดีแพ่งนี้ ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งอ้างสภาพแห่งข้อหาในมูลคดีเดียวกับคดีอาญาดังกล่าวจึงตกไปรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 5,782,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏจากหลักฐานที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกาว่า มูลกรณีเรื่องเดียวกันนี้พนักงานอัยการกรมอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2521 กล่าวหาว่า เมื่อระหว่างวันที่ 18 มีนาคม 2517 ตลอดมาถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2517 ทั้งกลางวันและกลางคืน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้บังอาจร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังข้าวสารขององค์การคลังสินค้าผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาอยู่ในคลังสินค้า 1 ธนบุรี จำนวน18,096 กระสอบ คิดเป็นเงิน 4,054,800 บาท เป็นของจำเลยหรือผู้อื่นโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 8 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 4,054,800 บาทแก่ผู้เสียหายด้วย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลอาญาพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกข้าวสารจำนวน 18,096 กระสอบของผู้เสียหายไป พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุดโดยโจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำพิพากษาซึ่งจ่าศาลรับรองถูกต้อง และใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาคดีถึงที่สุดที่จำเลยยื่นส่งศาลเพื่อประกอบการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีแพ่งที่พิจารณาอยู่นี้ โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยร่วมกันทุจริตเบียดบังเอาข้าวสารจำนวน18,096 กระสอบของโจทก์ไปและขอให้ชดใช้เงินค่าข้าวสารนั้นเป็นมูลคดีเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าวข้างต้นซึ่งกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันทุจริตเบียดบังข้าวสารจำนวน 18,096 กระสอบของโจทก์ไป ขอให้ลงโทษและขอให้คืนหรือใช้ราคาข้าวสารเช่นเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา” เมื่อคดีปรากฏว่าศาลได้พิพากษายกฟ้องในคดีอาญาโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมเบียดบังยักยอกข้าวสารจำนวน 18,096 กระสอบของโจทก์ไปคดีถึงที่สุดแล้ว ในการพิพากษาคดีแพ่งนี้ศาลฎีกาจึงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าว โดยต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกันทุจริตเบียดบังเอาข้าวสารจำนวน 18,096 กระสอบของโจทก์ไปด้วย ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างสภาพแห่งข้อหาในมูลคดีเดียวกับคดีอาญาดังกล่าวจึงย่อมตกไป รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังโจทก์ฟ้อง”

พิพากษายืน

Share