แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมาย ส่วนข้อเท็จจริงมิได้สั่งรับเป็นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ แม้การวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมายอย่างไร ศาลอุทธรณ์ก็หาอาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถของบริษัทกรุงเทพอาหารสัตว์ จำกัดซึ่งเอาประกันภัยไว้กับบริษัทโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ชำระค่าซ่อมรถแทนผู้เสียหายไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิฟ้องคดีได้ จำเลยที่ 1 นายจ้างและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย ต้องรับผิดใช้เงิน พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 10,198 บาทให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท คู่ความต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 3 ได้ความว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โดยฟังข้อเท็จจริงไว้ว่า รถยนต์เบ็นซ์หมายเลขทะเบียน 5 ค – 4217เป็นของบริษัทกรุงเทพอาหารสัตว์ จำกัด จำเลยทั้งสองอุทธรณ์สามข้อ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งเป็นข้อกฎหมาย ส่วนอุทธรณ์ข้อ 3 ซึ่งจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีพยานนำสืบว่ารถยนต์เบ็นซ์ หมายเลขทะเบียน 5 ค – 9217 เป็นของบริษัทกรุงเทพอาหารสัตว์จำกัด ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์ไว้ด้วย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้นำสืบว่ารถยนต์เบ็นซ์หมายเลขทะเบียน 5 ค – 9217 เป็นของบริษัทกรุงเทพอาหารสัตว์ จำกัด ไม่ได้ความว่าบริษัทกรุงเทพอาหารสัตว์จำกัด มีส่วนได้เสียในรถยนต์เบ็นซ์หมายเลขทะเบียน 5 ค – 9217 ที่เอาประกัน จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ แม้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมายอย่างไร ศาลอุทธรณ์ก็หาอาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาดังกล่าวเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการพิจารณาเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นที่มีการอุทธรณ์และศาลชั้นต้นสั่งรับดังกล่าวข้างต้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลอุทธรณ์รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่”