คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยรับราชการเป็นพยาบาลประจำโรงพยาบาลได้ตรวจชันสูตรบาดแผลของ พ. ซึ่งถูกข่มขืนกระทำชำเราละเว้นไม่ส่งซับน้ำในช่องคลอดของ พ. ไปหาเชื้อของน้ำอสุจิตามระเบียบและกรอกข้อความลงในรายงานผลการตรวจชันสูตรเอาเอง พ. ย่อมเป็นผู้เสียหายและได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยแล้วจำเลยมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157
ในคดีที่ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมายเมื่อปรากฏว่าจำเลยอายุ 57 ปี รับราชการเป็นพยาบาลไม่เคยกระทำผิดมาก่อนโดยพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการวางโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้โดยให้รอการลงโทษไว้ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 ให้ลงโทษตาม มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โดยที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น องค์ประกอบจะต้องเป็นการทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่เด็กหญิงพนิดาสุวรรณ ไม่ใช่ผู้เสียหายและเสียหายแต่อย่างใด ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องกับฎีกาว่าหากฟังว่าจำเลยกระทำผิดจริง ขอให้รอการลงโทษด้วย เห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าเด็กหญิงพนิดา สุวรรณ ไม่ใช่ผู้เสียหายและเสียหายนั้นโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เด็กหญิงพนิดา สุวรรณ และพนักงานสอบสวนอำเภอทุ่งสง จากข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมาก็ได้ฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าจำเลยละเว้นไม่ส่งซับน้ำในช่องคลอดของเด็กหญิงพนิดาไปตรวจหาเชื้อของน้ำอสุจิตามระเบียบ และกรอกข้อความลงในรายงานผลการตรวจชันสูตรเอาเอง กับได้ส่งมอบรายงานผลการตรวจให้พนักงานสอบสวนไป ย่อมถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เด็กหญิงพนิดาและพนักงานสอบสวนอำเภอทุ่งสง เป็นการครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 แล้ว เด็กหญิงพนิดาย่อมเป็นผู้เสียหายและได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลยแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ในคดีที่ฎีกาได้แต่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการวางโทษที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ได้ เฉพาะคดีนี้ ถ้าจะรอการลงโทษให้แก่จำเลยไว้ ย่อมจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้จำเลยต้องระมัดระวังความประพฤติของตนไปตลอดระยะเวลาที่ศาลจะรอการลงโทษให้แก่จำเลย ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่สังคมมากกว่าที่จะลงโทษจำคุกจำเลยไปทีเดียว ทั้งจำเลยก็มีอายุ 57 ปี รับราชการเป็นพยาบาล ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน โดยพฤติการณ์และเหตุผลแห่งรูปคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share