แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะมิได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ไว้โดยตรง แต่ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานและพิพากษาคดีในครั้งแรกจำเลยได้กล่าวไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยชัดแจ้งว่า จำเลยขอโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง เช่นนี้เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่และมีการดำเนินคดีต่อมาย่อมถือว่า จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แล้วจำเลยจึงหยิบยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาได้
การที่โจทก์ขอเพิ่มเติมคำฟ้องในรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์ ว่าที่ในสัญญาเช่าท้ายฟ้องระบุที่ดินโฉนดเลขที่ 2622 นั้นผู้เขียนสัญญาเขียนผิดไปความจริงเป็นการเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2662 ตามคำฟ้องเดิมนั้นเองมิใช่ที่ดินแปลงอื่นทั้งนี้เพื่อให้คำฟ้องเดิมของโจทก์มีความชัดแจ้งบริบูรณ์ขึ้นโจทก์ย่อมขอเพิ่มเติมได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(2)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้อง และให้ใช้ค่าเสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่จำเลยฎีกาในข้อ (5) ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 และมาตรา 180 ต้องเป็นการแก้คำฟ้อง แต่ตามคำร้องขอเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์ (ฉบับลงวันที่ 5พฤศจิกายน 2513) เป็นการขอแก้ไขเอกสารที่ส่งศาลท้ายฟ้อง จึงไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ปัญหานี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ไว้โดยตรง แต่ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานและพิพากษาคดีนี้ในครั้งแรก จำเลยทั้งสองได้กล่าวไว้ในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองชัดแจ้งว่าจำเลยขอโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง เช่นนี้ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ และมีการดำเนินคดีต่อมา ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(2) แล้วจำเลยจึงหยิบยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาได้ ส่วนข้อที่ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมคำฟ้องเดิมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ได้พิเคราะห์คำร้องขอเพิ่มเติมคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า โจทก์ขอเพิ่มเติมคำฟ้องในรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินที่จำเลยทั้งสองเช่าจากโจทก์ว่า ที่ในสัญญาเช่าท้ายฟ้องระบุที่ดินโฉนดเลขที่ 2622 นั้น ผู้เขียนสัญญาเขียนผิดไป ความจริงเป็นการเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2662 ตามคำฟ้องเดิมนั้นเอง มิใช่ที่ดินแปลงอื่น ทั้งนี้เพื่อให้คำฟ้องเดิมของโจทก์มีความชัดแจ้งบริบูรณ์ขึ้น โจทก์ย่อมขอเพิ่มเติมได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179(2) คำฟ้องของโจทก์ที่เสนอภายหลังโดยคำร้องเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิม และโจทก์ยื่นก่อนวันชี้สองสถาน ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมคำฟ้อง จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อ (6) ว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นบัญชีระบุพยานและขอให้ศาลเผชิญสืบที่พิพาท แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบพอที่จะวินิจฉัยคดีได้ ไม่ต้องสืบที่พิพาทอีกจึงให้งดสืบพยานพิพาท เป็นการไม่ชอบ เพราะถ้าศาลได้ไปดูที่พิพาทก็อาจเห็นว่าบ้านของจำเลยทั้งสองมิได้ปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดของโจทก์ตามฟ้องนั้น เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจของศาลในการสืบพยานหลักฐานอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน