คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่ดินต่อเติมชายคารุกล้ำที่ดินขอให้ ศาลพิพากษาให้จำเลยรื้อถอน จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์รื้อกันสาด ที่สร้างใหม่รื้อชายคาส่วนที่สร้างรุกล้ำรื้อท่อน้ำประปากับเครื่องสูบน้ำ ออกไปจากที่พิพาทฟ้องแย้งส่วนนี้เกี่ยวกับฟ้องเดิมแต่ที่ขอให้โจทก์ใช้ ค่าเสียหายเพราะโจทก์ก่อสร้างทำให้กำแพงตึกของจำเลยแตกร้าวกระเบื้อง หน้าตึกแถว เสียหายลูกจ้างของโจทก์ตัดโครงเหล็กเครื่องปรับอากาศของ จำเลยนั้นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงฟ้องแย้งไม่ได้ ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
ตึกแถวปลูกสร้างตั้งแต่เจ้าของเดิมคนเดียวกันยังไม่แยกโฉนดเมื่อ แยกโฉนดปั้นลมและชายคาจึงรุกล้ำในที่ดินของโจทก์ตั้งแต่เจ้าของเดิม จำเลยรับโอนตึกแถวมากว่า 10 ปี ต้องใช้บทใกล้เคียงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 คือใช้ มาตรา 1312 จำเลย มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่รุกล้ำโจทก์บังคับให้รื้อถอนไม่ได้ แต่จำเลยต้องเสียค่าใช้ที่ดินส่วนนั้นโดยจดทะเบียนเป็นภารจำยอมส่วน ท่อน้ำทิ้งและเครื่องปรับอากาศซึ่งจำเลยติดตั้งไม่เกิน 10 ปีไม่มีภารจำยอมและไม่อยู่ใน มาตรา 1312 วรรคแรก จำเลยต้องรื้อไป

ย่อยาว

เจ้าของที่ดินปลูกตึกแถวแล้วจึงแบ่งแยกโฉนดมีเขตเพียงแนวกำแพงตึกแถวด้านหลัง โจทก์จำเลยต่างซื้อตึกแถว โจทก์ซื้อที่ดินหลังตึกแถวด้วย มีส่วนของอาคารรุกล้ำกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยรื้อท่อระบายน้ำทิ้งกับเครื่องปรับอากาศที่รุกล้ำ คำขออื่นให้ยก โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ประเด็นข้อแรกมีว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดบุกรุกที่ดินโจทก์และต่อเติมชายคารุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ออกไปจำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์รื้อกันสาดคอนกรีตที่สร้างใหม่ รื้อชายคาหลังตึกแถว 4 ชั้นส่วนที่รุกล้ำ รื้อท่อน้ำประปากับเครื่องสูบน้ำออกไปให้พ้นเขตที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ฟ้องแย้งส่วนนี้เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จำเลยจึงฟ้องแย้งได้ แต่ที่ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ตอกเสาเข็มในการก่อสร้างทำให้กำแพงตึกของจำเลยแตกร้าว ตบแต่งหน้าร้านตึกแถวของโจทก์ทำให้แผ่นกระเบื้องโมเสคหน้าตึกแถวของจำเลยเสียหาย และลูกจ้างของโจทก์ตัดโครงเหล็กกั้นเครื่องปรับอากาศของจำเลยเสียหายนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยส่วนนี้แม้จะเกิดจากมูลละเมิดก็ตาม แต่ก็เป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จำเลยฟ้องแย้งไม่ได้ ต้องไปฟ้องเป็นคดีต่างหาก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม” ฯลฯ

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แนวเขตที่ดินของจำเลยมีเพียงแค่แนวกำแพงด้านหลังตึกแถวของจำเลยเท่านั้น หาใช่เลยกำแพงตึกแถวออกไป 50 เซ็นติเมตรดังที่จำเลยอ้างไม่ เกี่ยวกับเรื่องบั้นลมและชายคาอาคารของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ จำเลยจะได้สิทธิภารจำยอมหรือไม่นั้นได้ความว่าหลังจากได้แบ่งแยกโฉนดแล้ว บั้นลมและชายคาดังกล่าวจึงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ตั้งแต่เจ้าของเดิม และจำเลยรับโอนตึกแถวมาในสภาพเดิมเกินกว่า 10 ปีแล้ว กรณีดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 มาใช้ โดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับคดีนี้ คือจำเลยมีสิทธิใช่ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ เฉพาะที่บั้นลมและชายคารุกล้ำเข้าไปนั้นได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอน แต่มีสิทธิที่เรียกเงินเป็นค่าที่จำเลยใช้ส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ต่อไป ตลอดจนที่จะดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1848/2512 ระหว่างนายอมฤทธิ์ จิรา โจทก์ คุณหญิงอรุณ เมธาธิบดี จำเลย ส่วนท่อทิ้งน้ำและเครื่องปรับอากาศ จำเลยเพิ่งติดตั้งรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ยังไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้สิทธิภารจำยอม และกรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคแรก จำเลยต้องรื้อถอนออกไป”

พิพากษายืน

Share