คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 616/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกากล่าวเพียงว่าค่าเสียหายไม่ควรเกินกว่าจำนวนเท่านั้นเท่านี้โดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด ๆ สนับสนุนเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอ้างอิงขึ้นกล่าวไว้โดยชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับวิ่งคู่กันไปแล้วเกิดกระแทกกันรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักวิ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนสามีและบิดาโจทก์ถึงตายเป็นเรื่องต่างทำละเมิด ไม่ใช่ร่วมกันทำละเมิดจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2ในผลแห่งการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ประมาทมาก ศาลให้จำเลยที่ 1,3 ใช้ค่าเสียหาย 9 ส่วน จำเลยที่ 2 ใช้ 1 ส่วน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 109,000 บาทกับดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 กับให้ร่วมกันชำระเงิน108,000 บาทกับดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 11 จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่าศาลล่างกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์แต่ละสำนวนมากเกินไป ซึ่งจำเลยที่ 3 กล่าวมาในฎีกาว่าศาลชั้นต้นพิเคราะห์รายได้ของผู้ตายแล้วกำหนดค่าใช้จ่ายในการทำศพ 8,000บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 จำนวน 100,000 บาทเกินสมควรความจริงค่าทำศพไม่ควรเกิน 4,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะไม่ควรเกิน20,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 7 ค่าทำศพไม่ควรเกิน 5,000 บาท และค่าขาดไร้อุปาระโจทก์ที่ 8 ถึงที่ 11 ไม่ควรเกิน 12,000 บาทนั้น จำเลยที่ 3กล่าวมาเพียงแต่ว่าไม่ควรเกินกว่าจำนวนเท่านั้นเท่านี้ลอย ๆ โดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด ๆ สนับสนุนเลย เป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอ้างอิงขึ้นกล่าวไว้โดยแจ้งชัด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ความเสียหายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2นั้น เห็นว่า ปรากฏในคำเบิกความของนายเชิง ไทรทับทิมจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3อ้างมาเป็นพยานว่า ก่อนจะวิ่งคู่กัน รถคันที่จำเลยที่ 1 ขับมาอยู่หลังรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งเป็นรถบรรทุกรำและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 ขับไปจนทันและวิ่งคู่กันไปประมาณครึ่งกิโลเมตรรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับค่อย ๆ ห่างออกมาทางข้างหลังรถบรรทุกรำได้ประมาณครึ่งคันก็เกิดเหตุ รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1ขับเสียหลักวิ่งข้ามเกาะกลางถนนซึ่งสูงประมาณ 1 คืบ ไปชนนายนนท์และนายเฉลียว ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของเกาะกลางถนนนั้น แล้ววิ่งข้ามเกาะนั้นกลับมาลงคลองข้างถนนเส้นเดิมที่ขับรถไป จำเลยที่ 1 ว่าได้ห้ามล้อ แต่ห้ามไม่อยู่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถมาด้วยความเร็วสูงมากและพยายามจะขับแซงรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับไปข้างหน้า ได้ขับตีคู่แข่งกันไปโดยจำเลยที่ 2 ก็ไม่ยอมลดความเร็วให้แซงขึ้นหน้ารถที่ตนขับ ผลที่สุดรถยนต์ทั้งสองก็กระแทกปะทะกันอันเป็นผลเนื่องโดยตรงมาจากการกระทำดังกล่าวอันเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยทั้งสองนั่นเอง เห็นว่า การประมาทของจำเลยทั้งสองครั้งนี้ จำเลยที่ 1มีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 2 เป็นอย่างมาก หาใช่เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2 เพียงฝ่ายเดียว หรือจำเลยที่ 2 ประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาไม่

ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ไม่ได้นั้น เห็นว่า โดยเหตุที่ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าจำเลยที่ 3เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว หาได้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ไม่ได้ จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดนี้ต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น และเห็นว่าความเสียหายครั้งนี้เกิดเพราะจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างละเมิดต่อโจทก์ ไม่ใช่ร่วมกันทำละเมิด จำเลยทั้งสองนี้จึงต้องรับผิดในผลแห่งความเสียหายโจทก์ตามส่วนแห่งความประมาทของตนสำหรับส่วนแห่งความประมาทของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาได้ วินิจฉัยไว้ในตอนต้นแห่งคำพิพากษานี้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ประมาทกว่าจำเลยที่ 2 เป็นอย่างมาก เห็นควรให้จำเลยที่ 1รับผิดในผลแห่งความเสียหายต่อโจทก์ 9 ส่วน และให้จำเลยที่ 2 รับผิดในผลแห่งความเสียหายต่อโจทก์ 1 ส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งเงินค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ได้รับชดใช้ทั้งสองสำนวนออกเป็นสำนวนละ 10ส่วน ให้จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชดใช้ให้โจทก์สำนวนละ 9 ส่วน ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ให้โจทก์สำนวนละ 1 ส่วน ให้จำเลยดังกล่าวเสียดอกเบี้ยในเงินส่วนที่ตนต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ในอัตราและระยะเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสองสำนวนด้วย”

Share