แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซื้อที่ดินจากศาลขายทอดตลาดรับโอนมาทั้งแปลงทั้ง ๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่าเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นบางส่วนโดยการครอบครองดังนี้ในส่วนที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น โจทก์ไม่อาจอาศัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1330 ใช้ยันจำเลยเพื่อคุ้มครองสิทธิโจทก์ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลโดยไม่สุจริต พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จากข้อเท็จจริงตามที่ได้ความดังกล่าวศาลีกาเห็นว่า โจทก์ในฐานะเป็นญาติทั้งของนายมาลัยและจำเลยนั้น ได้รู้เห็นมาโดยตลอดว่า นายมาลัยและจำเลยต่างถือสิทธิครอบครองที่ดินตามโฉนดพิพาทกันเป็นส่วนสัดตามที่แต่ละคนได้รับมรดกตกทอดมา เมื่อนายมาลัยมีคดีพิพาทกับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 104/2518 ของศาลชั้นต้นโจทก์ก็ได้เป็นเสมียนทนายความของนายมาลัย และยังเป็นพยานให้แก่นายมาลัยเมื่อศาลพิพากษาชี้ขาดถึงที่สุดว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองที่เป็นกรณีพิพาทให้คดีนี้ โจทก์ก็ได้ทราบผลของคำพิพากษานั้นเป็นอย่างดี แต่โจทก์ยังขืนเข้าประมูลซื้อที่ดินโฉนดพิพาทและรับโอนมาทั้งแปลง โดยทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าที่ดินตามโฉนดพิพาทนั้น นายมาลัยผู้มีชื่อในโฉนดมีกรรมสิทธิ์เพียง 100 ตารางวา ส่วนที่เหลือ 260 ตารางวาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามคำพิพากษาของศาลชอบตามกฎหมายแล้วดังนี้ โจทก์จะมาฎีกากล่าวอ้างว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลและรับโอนกรรมสิทธิ์มาโดยสุจริตจึงหารับฟังได้ไม่ โจทก์ไม่อาจจะอาศัยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 คุ้มครองสิทธิโจทก์ใช้ยันจำเลยเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 821/2516 ระหว่าง นายคูณ ทองเสนาหรือจิตรกรรม โจทก์ นายศิลาเครือมะณี กับพวก จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาล และรับโอนกรรมสิทธิ์มาโดยไม่สุจริตพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน