คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ไม่ส่งน้ำตาลแก่ผู้ซื้อตามเวลากำหนด เพราะไม่สามารถตกลงราคากับผู้ผลิตน้ำตาลได้ ต่อมารัฐบาลจึงห้ามส่งน้ำตาลออกไปต่างประเทศไม่เป็นเหตุสุดวิสัยที่จะอ้างขึ้นปัดความรับผิด
ผู้ค้ำประกันลูกหนี้ต่อธนาคารมีเงินฝากในธนาคารเจ้าหนี้ลูกหนี้ผิดนัดผู้ค้ำประกันต้องรับผิดต่อธนาคาร ธนาคารหักเงินของผู้ค้ำประกันที่ฝากไว้กับธนาคารนั้นเมื่อใดก็ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน1,096,232.97 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลทรายขาวให้แก่องค์การโชนเอ็กซิมประเทศสาธารณรัฐเขมร จำเลยที่ 1 ขอให้ธนาคารโจทก์เป็นผู้ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารเฟอร์สแนชชั่นแนลซิตี้ นิวยอร์ค สำหรับการส่งสินค้าน้ำตาลทรายจำนวน 4,333 เมตริกตัน โดยจะต้องบรรทุกสินค้าลงเรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 20 มีนาคม 2517 การค้ำประกันมีอายุ 35 วันนับแต่วันสุดท้ายที่เลตเตอร์ออฟเครดิตอนุญาตให้ส่งสินค้าได้ หากจำเลยที่ 1ไม่ส่งสินค้าและยื่นขายตั๋วแลกเงินภายในวันที่ 20 มีนาคม 2517 ตามเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์ยอมให้ธนาคารเฟอร์สแนชชั่นแนลซิตี้ นิวยอร์คหักเงินจำนวน 58,495.50 เหรียญสหรัฐในบัญชีเงินฝากของโจทก์ ต่อมาถึงกำหนดส่งน้ำตาลทราย จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายไม่ส่งน้ำตาลไปให้แก่ผู้ซื้อในประเทศสาธารณรัฐเขมร ธนาคารเฟอร์สแนชชั่นแนลซิตี้ นิวยอร์คจึงปรับโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน โดยหักเงินจำนวน 58,495.50 เหรียญสหรัฐในบัญชีเงินฝากของโจทก์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2518

ประเด็นข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อไม่ได้เป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่ต้องรับผิดนั้น พิเคราะห์พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยแล้วได้ความตามเอกสารหมาย ล.1 คือหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรมถึงบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด ลงวันที่ 21 มกราคม 2517 มีความว่า รัฐบาลสาธารณรัฐเขมรได้ตกลงยอมรับข้อเสนอของบริษัทไทยการเกษตร จำกัด (จำเลยที่ 1) ที่จะซื้อน้ำตาลทรายขาวจำนวน 10,000เมตริกตัน กระทรวงอุตสาหกรรมให้อุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยจำกัด ทำความตกลงกับตัวแทนของรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรในเรื่องราคาและการแบ่งปริมาณส่งเป็นงวด ๆ ด้วย เมื่อพิจารณาหนังสือกระทรวงอุตสาหกรรมที่ตอบหนังสือของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.2 ล.3ซึ่งอ้างถึงวิธีการส่งน้ำตาลทรายขาวไปขายในประเทศสาธารณรัฐเขมรโดยให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรมคือให้เจรจาตกลงกับบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด ก่อนและตามบันทึกของกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเขมรประจำประเทศไทย ตามเอกสารหมาย ล.4 กับหนังสือของประธานกรรมการผู้จัดการองค์การโชนเอ็กซิม ถึงเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเขมรประจำประเทศไทยตามเอกสารหมาย ล.9 ประกอบกันแล้ว เห็นได้ว่า เหตุที่จำเลยที่ 1ส่งน้ำตาลทรายขาวไปยังผู้ซื้อในสาธารณรัฐเขมรไม่ได้ เพราะกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้ส่งน้ำตาลทรายขาวในราคาตลาดโลก และให้บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นตัวแทนของโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขาย และจัดส่งน้ำตาลทรายขาวออกไปยังประเทศสาธารณรัฐเขมร แต่จำเลยที่ 1 ไม่อาจทำความตกลงเรื่องราวกับบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงงานน้ำตาลในการจัดส่งน้ำตาลทรายขาวออกไปยังประเทศสาธารณรัฐเขมรตามเงื่อนไขของกระทรวงอุตสาหกรรมได้ ข้อที่จำเลยอ้างว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยุติการจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวให้แก่ประเทศสาธารณรัฐเขมร เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งน้ำตาลทรายขาวไปให้ผู้ซื้อได้นั้น ก็เป็นเวลาภายหลังจากวันที่ 20 มีนาคม 2517 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ตามที่ระบุไว้ในเลตเตอร์ออฟเครดิต ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1 ส่งน้ำตาลทรายขาวไปให้แก่ผู้ซื้อไม่ได้ จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อปัดความรับผิดบรรทุกเรือและยื่นขายตั๋วภายในวันที่ 21 มีนาคม 2517 และวันที่ 28 มีนาคม 2517 ธนาคารเฟอร์สแนชชั่นแนลซิตี้ นิวยอร์ค โทรเลขมาถึงโจทก์ขอหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเช่นนี้ ถือว่าธนาคารเฟอร์สแนชชั่นแนลซิตี้ นิวยอร์คได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้ภายในกำหนดแล้ว เพราะสัญญาค้ำประกันที่โจทก์ทำไว้กับธนาคารเฟอร์สแนชชั่นแนลซิตี้ นิวยอร์ค มีอายุ 35 วันนับจากวันสุดท้ายที่เครดิตอนุญาต คือวันที่ 20 มีนาคม 2517 การหักบัญชีเงินฝากของโจทก์แม้จะทำภายหลังกำหนดระยะการค้ำประกันของโจทก์ก็ย่อมทำได้ เพราะเงินอยู่ในความครอบครองของธนาคารเฟอร์สแนชชั่นแนลซิตี้ นิวยอร์ค เจ้าหนี้อยู่แล้วเจ้าหนี้จะหักเงินในบัญชีเมื่อไรก็ได้”

พิพากษายืน

Share