คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า”และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยตัวผู้กระทำผิดนั้นไป” นั้นสำหรับกรณีที่จะต้องให้ศาลอนุญาตให้สมรสกันดังกล่าวนั้นหมายความว่าชายหรือหญิงมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จะสมรสกันจึงจะต้องขออนุญาตต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 แต่จำเลยและผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ได้จดทะเบียนสมรสกันในเวลาต่อมาย่อมเป็นการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วโดยไม่ต้องขออนุญาตต่อศาลจำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยงและวันที่ 13 มิถุนายน 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงสุพรรณี ประเสริฐพงษ์ ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 91

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคหนึ่ง ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 2 กระทงจำคุกกระทงละ 4 ปีรวมจำคุก 8 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ระหว่างพิจารณาคดีนี้ผู้เสียหายอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว จึงสามารถจดทะเบียนสมรสได้โดยไม่ต้องให้ศาลอนุญาต และเมื่อจำเลยกับผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกันแล้วศาลต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดไปนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า “และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและเด็กหญิงนั้นสมรสกันผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยตัวผู้กระทำผิดนั้นไป” กรณีที่จะต้องให้ศาลอนุญาตให้สมรสกันดังกล่าวนั้นหมายความว่า ชายหรือหญิงมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์จะสมรสกันจึงจะต้องขออนุญาตต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยและผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ได้แต่งงานกันตามประเพณี และได้จดทะเบียนสมรสกันที่สำนักงานทะเบียนอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 ตามใบสำคัญการสมรสที่แนบท้ายฎีกา โจทก์มิได้แก้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน จึงฟังได้ว่าจำเลยและผู้เสียหายได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share