คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บำเหน็จตกทอดของ ป. ผู้ตายมิใช่มรดก และกฎหมายมิได้บังคับให้กรมบัญชีกลางจำเลยต้องจ่ายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทันทีที่ ป. ตาย แต่จะต้องจ่ายเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียทวงถาม โจทก์และจำเลยที่ 2 ยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จตกทอดของ ป. ต่อจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นภริยาของ ป.โดยโจทก์อ้างว่าจดทะเบียนสมรสกับ ป. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2517ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่า หย่ากับ ป. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมในปี 2516 แต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนหย่า เช่นนี้ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยให้เสร็จไปภายในเวลาอันสมควรว่าจะจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่าย แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าปฏิเสธการจ่ายเมื่อใด จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้องต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายประกาย กล่อมสุวรรณจดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2517 นายประกายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์และนายประเดิม กล่อมสุวรรณ บุตรของนายประกายเป็นผู้จัดการมรดก ก่อนที่นายประกายจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ นายประกายเคยจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2 แต่ได้ฟ้องหย่าจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดกระบี่ ศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้หย่ากันเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2517 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ยื่นคำร้องขอรับบำเหน็จตกทอดจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายเงินให้อ้างว่า นายประกายมีภริยา 2 คน คือจำเลยที่ 2 และโจทก์ เพราะศาลพิพากษาตามยอมให้นายประกาย และจำเลยที่ 2 หย่ากัน แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คือ ยังไม่ได้ทำการเพิกถอนทะเบียนสมรส ประกอบกับจำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านการที่โจทก์ขอรับบำเหน็จตกทอดด้วยทำให้โจทก์ไม่ได้รับบำเหน็จตกทอดจำนวน284,452 บาท จากจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 284,452 บาท พร้อมดอกเบี้ยกรณีพิเศษอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 223,100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายประกายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2ไว้ก่อนแล้ว และยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า การสมรสระหว่างโจทก์และนายประกายเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอ้างทะเบียนสมรสที่จดไว้กับนายประกายเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการทางศาล หากศาลพิพากษาว่าผู้ใดเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประกายและมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายก็จะจ่ายเงินให้ผู้นั้น เมื่อโจทก์ไม่มีคำพิพากษาที่พิพากษาว่าโจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายประกายและมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดของนายประกายมาแสดง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 จ่ายบำเหน็จตกทอดจำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องจ่ายบำเหน็จตกทอดและไม่ต้องรับผิด สำหรับดอกเบี้ย หากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยก็รับผิดในอัตราร้อยละ 7.4 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า นายประกายและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลจังหวัดกระบี่ว่าตกลงหย่าขาดจากกัน เมื่อออกจากศาลแล้วจะไปจดทะเบียนหย่าที่อำเภอเมืองกระบี่ ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว แต่นายประกายไม่ไปจดทะเบียนหย่าตามที่ตกลงไว้ การสมรสยังสมบูรณ์อยู่ ที่โจทก์และนายประกายจดทะเบียนสมรสภายหลังจึงเป็นการสมรสซ้อนเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายบำเหน็จตกทอดไม่ใช่ทรัพย์มรดกการที่จำเลยที่ 1 จะจ่ายบำเหน็จตกทอดแก่ผู้ใดต้องพิจารณาสิทธิของบุคคลที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 บันทึกสละสิทธิในทรัพย์มรดกของนายประกายซึ่งจำเลยที่ 2 ทำขึ้นเป็นคนละส่วนกับบำเหน็จตกทอด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 223,100 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการเดียวว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องชอบแล้วหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการ มิได้เป็นลูกหนี้โจทก์และในวันฟ้องจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าจะต้องจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่ผู้ใด ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งยังโต้แย้งกันอยู่ จำเลยที่ 1 ควรจะต้องจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์โดยตรง แต่หากจำเลยที่ 1 มีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายบำเหน็จตกทอดของนายประกายผู้ตายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็ต้องถือว่าเป็นหนี้เงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยได้ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในระหว่างเวลาผิดนัด บำเหน็จตกทอดดังกล่าวนี้มิใช่มรดก และกฎหมายมิได้บังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายแก่ผู้มีส่วนได้เสียในทันทีที่นายประกายถึงแก่ความตาย แต่จะต้องจ่ายเมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียทวงถาม ปรากฏว่าโจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับบำเหน็จตกทอดของนายประกายต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2539 และจำเลยที่ 2 ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดเข้ามาอีกคนหนึ่งในวันที่ 9 เมษายน 2539 ตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 โดยต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นภริยาของนายประกาย โจทก์อ้างว่าจดทะเบียนสมรสกับนายประกายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2517 ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่า หย่ากับนายประกายตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 12/2516 ของศาลจังหวัดกระบี่ แต่ยังมิได้ไปจดทะเบียนหย่า ที่นายประกอบจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 2เป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น เห็นว่าเมื่อมีการทวงถามเช่นนี้จำเลยที่ 1ในฐานะที่เป็นส่วนราชการผู้รับผิดชอบการจ่ายบำเหน็จตกทอด มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยให้เสร็จไปภายในเวลาอันสมควรว่าจะจ่ายบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์หรือจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะในเมื่อกรณีอย่างจำเลยที่ 2 นี้ เป็นการหย่าโดยคำพิพากษาตามยอมมีผลแต่เวลาที่คำพิพากษาตามยอมถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง แม้ว่าศาลจะมิได้มีคำบังคับให้คู่กรณีไปจดทะเบียนหย่า ถ้าฝ่ายใดไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาก็ตาม ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียนและขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้เท่านั้น คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก การที่โจทก์ยื่นขอรับบำเหน็จตกทอดแล้วจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายตั้งแต่ก่อนวันฟ้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเมื่อใด จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share