คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่ต้องซ่อมรถยนต์คันที่จำเลยขับชนกับรถยนต์โจทก์รวมทั้งที่รถยนต์คันดังกล่าวต้องเสื่อมราคาและไม่สามารถใช้งานได้ในระหว่างที่ซ่อม ในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แต่ปรากฏว่ารถยนต์เป็นของบิดาจำเลยมิใช่ของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของเรียกค่าเสียหายสำหรับความเสียหายดังกล่าวได้จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ท-0063 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด เพื่อใช้เป็นรถแท็กซี่รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร โดยมีนายสุทิน เสนามนตรี เป็นผู้เช่าขับรับจ้าง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2537 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา ขณะนายสุทินขับรถของโจทก์มาตามถนนพหลโยธิน จากวงเวียนอนุสาวรีย์บางเขนมุ่งหน้าไปยังตลาดสะพานใหม่ จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน4 จ-2337 กรุงเทพมหานคร ตามมาในทิศทางเดียวกันในช่องทางที่ 2ด้วยความเร็วสูงแล้วเลี้ยวซ้ายปาดหน้ารถโจทก์อย่างกะทันหันเพื่อเข้าซอยพหลโยธิน 42 จึงเฉี่ยวชนกัน รถโจทก์ได้รับความเสียหายหลายแห่งต้องใช้เวลาซ่อม 10 วัน โจทก์เสียค่าซ่อมเป็นเงิน 76,655 บาท โจทก์ไม่สามารถนำรถออกให้เช่าได้ตามปกติทำให้ขาดรายได้จากค่าเช่าในอัตราวันละ 700 บาท เป็นเงิน 7,000 บาท รถโจทก์ต้องเสื่อมราคาขอคิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 12,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น95,655 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 97,325 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 95,655 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายสุทิน เสนามนตรี เป็นพนักงานของโจทก์ กระทำการในทางการที่จ้างขนส่งผู้โดยสารตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ วันเกิดเหตุจำเลยขับรถเปลี่ยนช่องทางไปยังช่องทางที่ 2เนื่องจากช่องทางที่ 1 มีรถยนต์จอดขวางอยู่แล้ว จำเลยเปิดไฟสัญญาณเลี้ยวซ้ายเพื่อจะเลี้ยวเข้าซอยพหลโยธิน 52 นายสุทินขับรถโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อ โดยขับมาด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในช่องทางที่ 1 แล้วเปลี่ยนเข้าไปในช่องทางที่ 2 ตามรถจำเลย และพุ่งชนท้ายรถจำเลยทางหลังด้านซ้ายอย่างแรงทำให้รถจำเลยได้รับความเสียหายจำเลยต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 109,629 บาท รถต้องเสื่อมราคาไป 50,000บาท แต่จำเลยขอคิดค่าเสื่อมราคาเพียง 20,000 บาท จำเลยซ่อมรถเป็นเวลา 45 วัน ทำให้พันตำรวจเอกสมเกียรติ เฉลิมช่วง ซึ่งเป็นเจ้าของรถไม่สามารถใช้รถได้ ต้องเสียค่าเช่ารถอื่นไปทำธุรกิจและเดินทางไปที่จังหวัดฉะเชิงเทราวันละ 1,000 บาท เป็นเงิน 45,000 บาท แต่จำเลยขอคิดเพียง20,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 149,629 บาท จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 149,629 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเท่านั้นเป็นฝ่ายประมาทโจทก์มิได้ประมาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง อนึ่ง โจทก์มีคำร้องขอให้เรียกนายสุทิน เสนามนตรี และบริษัทไทยศรีนครประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถโจทก์เข้าเป็นจำเลยร่วมตามฟ้องแย้งของจำเลยศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้เรียกโจทก์เป็นโจทก์ที่ 1 นายสุทินเป็นโจทก์ที่ 2 และบริษัทไทยศรีนครประกันภัย จำกัด เป็นโจทก์ที่ 3

โจทก์ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง

โจทก์ที่ 3 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขณะเกิดเหตุมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขับเหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว พันตำรวจเอกสมเกียรติ เฉลิมช่วงมิได้เป็นคู่ความในคดี จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้ โจทก์ที่ 3 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมายเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โจทก์ที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันชำระเงิน139,629 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13มิถุนายน 2537 (วันฟ้องแย้ง) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยคำขอ (ตามฟ้องแย้ง) นอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ท-0063 กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นรถแท็กซี่ให้เช่าและนำรถยนต์คันดังกล่าวประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 3โจทก์ที่ 2 เช่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ท-0063 กรุงเทพมหานครขับและเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 จ-2337 กรุงเทพมหานครซึ่งขับโดยจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยโดยจำเลยโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 จ-2337 กรุงเทพมหานคร เป็นของบิดาจำเลยมิใช่ของจำเลย จำเลยจึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องรวมทั้งวินิจฉัยอีกว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ที่ 1ใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่ต้องซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน4 จ-2337 กรุงเทพมหานคร รวมทั้งที่รถยนต์คันดังกล่าวต้องเสื่อมราคาและไม่สามารถใช้งานได้ในระหว่างที่ซ่อมการเรียกค่าสินไหมทดแทนของจำเลยเป็นการเรียกในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เมื่อจำเลยมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 จ-2337 กรุงเทพมหานคร จำเลยจึงไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของเรียกค่าเสียหาย สำหรับความเสียหายดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องซึ่งเรื่องอำนาจฟ้องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์สามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยไว้ ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share