คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3374/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 มาตรา 30 วรรค 2 และพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 68,70 ได้ให้อำนาจแก่ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอในการปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัดซึ่งประจำอยู่ ณ กิ่งอำเภอนั้นได้ ฉะนั้น เมื่อปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอได้มีคำสั่งกำหนดหน้าที่การงานให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานบัญชีประจำกิ่งอำเภอนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบในงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ การที่จำเลยเบียดบังเอาเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งตนได้รับไว้ในตำแหน่งหน้าที่ไป จึงเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยโดยตรง จำเลยจะเถียงว่าไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าพนักงานหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เก็บเงินภาษีบำรุงท้องที่กิ่งอำเภอยางชุมน้อยได้รับเงินภาษีบำรุงท้องที่ไว้ทั้งหมด 91,390.48 บาท แต่นำส่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพียง 23,000 บาท โดยจำเลยเบียดบังเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย 68,390.48 บาท โดยทุจริต อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 13 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 68,390.48 บาท แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้เงินคืนนั้น ให้ไปฟ้องกันในทางแพ่งต่อไป

โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3 ลงโทษจำคุก 7 ปี และให้จำเลยคืนเงิน 68,390.48 บาท แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเบียดบังเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ไปเป็นจำนวน 56,373.67 บาท

วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ส่วนที่จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่าแม้จะฟังว่าจำเลยเบียดบังไปก็น่าจะเป็นผิดฐานบุคคลธรรมดายักยอก ไม่ใช่เจ้าพนักงานยักยอก เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้ช่วยหัวหน้าหมวดการคลังนั้น ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 มาตรา 30 วรรค 2 บัญญัติว่าให้นายอำเภอตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด และมีหน้าที่ในการบริหารกิจการส่วนจังหวัดในเขตอำเภอนั้น นอกจากนี้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 68 ยังบัญญัติว่า นายอำเภอมีอำนาจในส่วนธุรการฝ่ายพลเรือนเหนือข้าราชการทุกแผนกที่ประจำรักษาราชการในอำเภอนั้น

สำหรับจำเลยนี้ซึ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งพนักงานบัญชีประจำกิ่งอำเภอนั้น ย่อมอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 70 ซึ่งบัญญัติว่า “พนักงานปกครองกิ่งอำเภอจะมีกรมการอำเภอรองแต่นายอำเภอตำแหน่งใดอยู่ประจำการ และจะมีเสมียนพนักงานอยู่ประจำการที่กิ่งอำเภอเท่าใด ทั้งนี้แล้วแต่จะสมควรแก่ราชการ แต่ผู้ที่เป็นใหญ่อยู่ประจำการที่กิ่งอำเภอต้องอยู่ในบังคับนายอำเภอและทำการในหน้าที่ในเวลาที่นายอำเภอมิได้มาอยู่ที่กิ่งอำเภอเหมือนเป็นผู้แทนนายอำเภอฉะนั้น”

ตามกฎหมายดังกล่าวแล้วแสดงว่ากฎหมายได้ให้อำนาจแก่ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอในการปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัดซึ่งประจำอยู่ ณ กิ่งอำเภอนั้นได้ ฉะนั้น เมื่อปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอได้มีคำสั่งกำหนดหน้าที่การงานให้จำเลยซึ่งเป็นพนักงานบัญชีมีหน้าที่รับผิดชอบในงานจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ตามคำสั่งหมาย จ.1, จ.2 ในคดีนี้การที่จำเลยเบียดบังเอาเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งตนได้รับไว้ในตำแหน่งหน้าที่ไปจึงเป็นการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยโดยตรง จำเลยจะเถียงว่าไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าพนักงานหาได้ไม่ อย่างไรก็ตาม ทางพิจารณาปรากฏว่าจำเลยได้ถูกลงโทษในข้อหาเบียดบังเงินค่าภาษีโรงเรือนและภาษีป้ายอีกคดีหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดโทษจำเลยเท่ากันทั้ง 2 คดี

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี และให้จำเลยคืนเงิน56,373.67 บาทแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share