คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่วัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้น ไม่เป็นเหตุให้การชำระหนี้ของโจทก์ที่จะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นพ้นวิสัย โจทก์จะอ้างเรื่องวัสดุก่อสร้างที่มีราคาสูงขึ้นมาเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ได้
แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจชดเชยค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้ผู้รับเหมา และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศจะได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการชดเชยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้ผู้รับเหมาไว้ ซึ่งถ้าถือตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจำเลยควรจ่ายเงินชดเชยค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามที่คณะกรรมการได้กำหนด แต่มติคณะรัฐมนตรีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและและถาวรวัตถุของประเทศหาได้บังคับผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาให้จำต้องปฏิบัติตามโดยเด็ดขาดไม่ เมื่อจำเลยพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้แก่โจทก์น้อยกว่าที่คณะกรรมการได้กำหนด โจทก์มิได้โต้แย้ง จึงถือได้ว่าโจทก์พอใจและตกลงยอมรับในจำนวนเงินดังกล่าวเพียงเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงินชดเชยค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างปรับปรุงชานชาลาย่านสถานีกรุงเทพ เป็นเงิน 1,100,000 บาท แต่จำเลยไม่ส่งมอบสถานที่ให้โจทก์ก่อสร้างตามสัญญา โจทก์ต้องรอคอยการส่งมอบสถานที่หลายแห่งและหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายต้องรอคอยจำเลยรื้อส้วมเพื่อมอบสถานที่ให้โจทก์หลายเดือน จำเลยจึงให้โจทก์ไปก่อสร้างปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือท้ายฟ้อง ต่อมาโจทก์ตกลงกันให้จำเลยก่อสร้างเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จเองโดยหักเงินจากค่าจ้างโจทก์ออก 30,000 บาท โจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเพียง 982,000 บาท ส่วนที่ค้างอีก 118,000 บาท จำเลยว่าจะต้องเสียค่าปรับเนื่องจากล่าช้าแต่การล่าช้ามิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ดังกล่าวแล้ว ทั้งเกิดจากเหตุสุดวิสัยเพราะวัสดุก่อสร้างหาได้ยากเนื่องจากพ่อค้ากักตุนไม่ยอมขายให้แก่ผู้รับเหมาอันเป็นเหตุสุดวิสัยวัสดุต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้นทำให้ผู้รับเหมาต้องขาดทุน คณะรัฐมนตรีมีมติให้ต่อสัญญาให้โดยไม่ต้องปรับและชดเชยค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้ผู้รับเหมาอีกด้วย คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศพิจารณาแล้วให้จำเลยชดใช้ค่าก่อสร้างให้โจทก์ 457,600 บาท แต่จำเลยจ่ายให้เพียง 184,000 บาท ยังค้างอีก 273,600 บาท เมื่อรวมกับค่าจ้างที่ค้าง 118,000 บาท จึงเป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ 391,600 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การว่า ไม่ได้ส่งมอบสถานที่ล่าช้าที่โจทก์อ้างว่าต้องรอคอยจำเลยรื้อส้วมหลายเดือนก็ไม่จริง เพราะตามสัญญาการรื้อถอนส้วมและก่อสร้างตรงที่รื้อถอนเป็นหน้าที่ของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ทำไม่ได้ก็ตกลงกันให้จำเลยรื้อถอนและก่อสร้างตรงที่รื้อถอนส้วมเอง โดยโจทก์ยอมให้จำเลยหักค่าจ้างไว้ 30,000 บาท การรื้อถอนส้วมกระทำหลังจากส่งมอบงานงวดที่ 9 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2518 และจำเลยให้โจทก์ทำงานต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม 2518 จนเสร็จงานงวดที่ 10 และงานงวดที่ 10 นี้จำเลยไม่ได้ปรับโจทก์ เงิน 118,000 บาทที่โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างชำระนั้นเป็นเงินที่โจทก์ยอมให้จำเลยหักไว้เป็นค่ารื้อถอนส้วมและก่อสร้างตรงที่รื้อถอนนั้น 30,000 บาท และเป็นค่าปรับที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าจนถึงงวดที่ 9 อีก 88,000 บาท การที่หาวัสดุก่อสร้างยากเพราะพ่อค้ากักตุนเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เหตุสุดวิสัยคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินชดเชยการก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี 457,000 บาทนั้น ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงเพราะสั่งให้จำเลยชดเชยสูงเกินความจริง ซึ่งจำเลยควรชดเชยเพียง114,500 บาท จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การจ่ายเงินชดเชยเป็นอำนาจของคณะกรรมการรถไฟที่จะพิจารณาอนุมัติ และคณะกรรมการรถไฟมีมติให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ 200,000 บาท โจทก์ยินยอมรับเงินไปจากจำเลยแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยจากจำเลยอีก โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับว่าเอกสารท้ายฟ้องตรงกับต้นฉบับ และเป็นเอกสารที่คู่ความทำไว้จริง แล้วต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลพิพากษาไปตามรูปคดี

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงินชดเชยค่าจ้างเหมา16,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2517 จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างปรับปรุงชานชาลาย่านสถานีกรุงเทพฯ ชานชาลาที่ 3, 4 และ 5 เป็นเงิน 1,110,000 บาท โดยกำหนดจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์รวม 10 งวด งวดละ 110,000 บาท เมื่อโจทก์ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ละงวด 10 เปอร์เซ็นต์และให้โจทก์ทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จครบถ้วนตามสัญญาและส่งมอบภายใน 210 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับมอบสถานที่เป็นต้นไป ถ้าไม่เสร็จภายในเวลาดังกล่าวโจทก์ยอมให้ริบเงินประกันหรือปรับเป็นรายวัน ๆ ละ 1,100 บาท จำเลยมอบสถานที่ก่อสร้างให้โจทก์เพื่อก่อสร้างตามสัญญา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2517 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2518 โจทก์แจ้งว่าได้ก่อสร้างงานงวดที่ 8 และ 9 เสร็จ และจำเลยตรวจรับงาน 2 งวดดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2518 ในการก่อสร้างตามสัญญาจะต้องรื้อถอนส้วม โจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยรื้อถอนส้วมโดยโจทก์ยอมให้หักค่าจ้างออก 30,000 บาท เมื่อจำเลยรื้อส้วมเสร็จแล้ว โจทก์ก็เข้าทำงานงวดที่ 10 ต่อไปจนเสร็จ ในการที่โจทก์ทำการก่อสร้างตามสัญญาจนเสร็จงานงวดที่ 10 จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ 983,000 บาท หลังทำสัญญาแล้ววัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเดือดร้อนและขาดทุนหากผู้รับเหมาก่อสร้างสถานที่ราชการขาดทุนมากจะทนไม่ได้ ก็จะละทิ้งงานไป จะเป็นผลเสียหายต่อทางราชการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่าคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศเพื่อพิจารณาเพิ่มราคาค่าก่อสร้างเพื่อชดเชยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมาคณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วสั่งให้จำเลยชดเชยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้โจทก์ 457,000 บาท จำเลยเห็นว่าจำนวนเงินดังกล่าวสูงเกินความเป็นจริง จึงจ่ายให้แก่โจทก์ 200,000 บาท และโจทก์ได้รับเงินชดเชยจากจำเลยแล้ว 184,000 บาท และวินิจฉัยว่าที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยปรับโจทก์ 88,000 บาท โดยอ้างว่าเหตุที่โจทก์ทำงานล่าช้าไม่ใช่เป็นเพราะความผิดของโจทก์ แต่เป็นเพราะวัสดุก่อสร้างราคาสูงไม่มีขายในท้องตลาดเพราะพ่อค้ากักตุน กรรมกรหยุดงาน และเพราะจำเลยไม่ยอมให้โจทก์รื้อส้วมโดยให้รอจนกว่าจำเลยสร้างส้วมใหม่เสร็จก่อนนั้น เห็นว่าการที่วัสดุก่อสร้างราคาสูงขึ้นไม่เป็นเหตุให้การชำระหนี้ของโจทก์ที่จะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นพ้นวิสัย โจทก์จึงจะอ้างเรื่องวัสดุก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นมาเป็นเหตุให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โจทก์ 457,600 บาท ตามมติของคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศนั้น เห็นว่าแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจชดเชยค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมา และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศจะได้กำหนดแนวปฏิบัติในการชดเชยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้ผู้รับเหมาไว้ ซึ่งถ้าถือตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จำเลยควรจ่ายเงินชดเชยค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่โจทก์ 457,600 บาท แต่มติคณะรัฐมนตรีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการปรับปรุงระบบการก่อสร้างสถานที่ราชการและถาวรวัตถุของประเทศหาได้บังคับผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาก่อสร้างให้จำต้องปฏิบัติตามโดยเด็ดขาดไม่ เมื่อจำเลยพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้แก่โจทก์เพียง 200,000 บาทแล้ว โจทก์ไม่ได้โต้แย้ง จึงถือได้ว่าโจทก์พอใจและตกลงยอมรับในจำนวนเงินดังกล่าวเพียงเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดเชยเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่โจทก์ 457,600 บาท ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวอีก

พิพากษายืน

Share