คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่เท่าใด ธนาคาร ปฏิเสธการจ่ายเงินในวันใดถึงแม้จะมิได้กล่าวว่าธนาคาร ปฏิเสธการจ่ายเงินเวลาใด ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เพราะ เป็นที่เห็นได้ว่า ปฏิเสธการจ่ายเงินในเวลากลางวัน อันเป็น เวลาทำการของธนาคาร และแม้โจทก์ไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่าจำเลย เป็นหนี้ค่าอะไรและบังคับได้ตามกฎหมายอย่างไร ก็เป็นการ เพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนข้อเท็จจริง ที่ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าอะไรและบังคับได้ตามกฎหมายอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา
ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คมิใช่เกิดในวันออกเช็ค โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายถึงสถานที่ที่จำเลยออกเช็คให้แก่ผู้เสียหาย
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เดิมจำเลยให้การปฏิเสธต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น หากมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยก็ขอให้นับโทษต่อด้วย จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นการแก้ไขเล็กน้อยอนุญาต จำเลยไม่เคยคัดค้านโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในอีกคดีหนึ่ง ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องด้วยแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4320/2538 ของศาลชั้นต้น

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษให้จำคุกกระทงละ20 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 10 วัน รวม 2 กระทง จำคุก 20 วัน กับให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4320/2538 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 664/2539 ของศาลชั้นต้น

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นได้ว่า จำเลยกระทำผิดเวลาใด และสถานที่ใด อีกทั้งโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมิได้แนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมาท้ายฟ้อง และสถานที่ที่จำเลยกระทำความผิดคือสถานที่ที่จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่ผู้เสียหาย โจทก์ก็มิได้บรรยายมาในฟ้องเป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่เท่าใด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันใด ถึงแม้จะมิได้กล่าวว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเวลาใด ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เพราะเป็นที่เห็นได้ว่า ปฏิเสธการจ่ายเงินในเวลากลางวัน อันเป็นเวลาทำการของธนาคารและที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้แนบเอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมาท้ายฟ้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายนั้น แม้ไม่ได้ระบุไว้ด้วยว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าอะไร และบังคับได้ตามกฎหมายอย่างไรก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าอะไรและบังคับได้ตามกฎหมายอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้องส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายถึงสถานที่ที่จำเลยกระทำความผิดคือสถานที่ที่จำเลยออกเช็คให้แก่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค มิใช่เกิดในวันออกเช็ค โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายถึงสถานที่ที่จำเลยออกเช็คให้แก่ผู้เสียหายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว

ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่าการนับโทษต่อของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเดิมจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเมื่อวันที่ 1พฤศจิกายน 2538 ว่า จำเลยเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4320/2538 ของศาลชั้นต้น หากมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยก็ขอให้นับโทษต่อด้วย จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยอนุญาต จำเลยไม่เคยคัดค้านโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์เช่นนี้ เห็นว่า การที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในอีกคดีหนึ่งดังกล่าวนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องด้วย เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในอีกคดีหนึ่งนั้นชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share