แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยผู้คัดค้านตรวจสอบพบว่า ร. ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร ก. ได้ร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคารดังกล่าวไปซึ่งเป็นการต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาตามที่ระบุไว้ในมาตรา 46 นว (1) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ทั้งเมื่อพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้อง ร. กับพวกในข้อหาดังกล่าวแล้ว ร. ได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศและธนาคารแห่งประเทศไทยผู้คัดค้านเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทที่ ร. เป็นเจ้าของกับหุ้นของบริษัท ฟ. ของ ร. ดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 เห็นได้ว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทของ ร. เป็นมาตรการป้องกันมิให้ ร. ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึดทรัพย์หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิตามเอกสารสิทธิต่าง ๆ ของตนเปลี่ยนมือไปให้แก่บุคคลอื่นโดยมิชอบอันอาจส่งผลให้เจ้าหนี้ทั้งปวงกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆที่ ร. เป็นหนี้อยู่ได้รับความเสียหายและถูกกระทบกระเทือน เพราะเหตุการกระทำทุจริตของ ร. ดังกล่าว คำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทของผู้คัดค้านดังกล่าวย่อมเป็นคำสั่งที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนตามบทบัญญัติข้างต้นเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยังมิได้ฟ้อง ร. เกี่ยวกับหนี้สินตามคำร้อง กรณีจึงไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่า ร. เป็นหนี้ผู้ร้องและมีข้อตกลงต่าง ๆ ระหว่างผู้ร้องกับ ร. ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่อายัดทรัพย์สินของ ร. ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยผู้คัดค้านได้ตรวจสอบพบว่าเมื่อระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 นายราเกซสักเสนา ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของธนาคารดังกล่าว กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของธนาคารเป็นเงิน 1,657,000,000บาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในหมวด 5 ของลักษณะ 12 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว (1) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ต่อมาภายหลังที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 12 มิถุนายน2539 ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายราเกซกับพวกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505และได้แจ้งคำสั่งอายัดไปยังธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกแห่ง กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบกนายทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกำหนดเวลา 180 วัน ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายราเกซกับพวกตามข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่นายราเกซหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องต่อศาล ผู้คัดค้านจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินของนายราเกซออกไปจนกว่าจะได้ตัวมาฟ้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่ากรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายใน 180 วัน ศาลจึงมีคำสั่งครั้งที่ 1ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกจนกว่าจะได้ตัวนายราเกซมาฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน180 วัน นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2539 ครั้งที่ 2 มีคำสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกจนกว่าจะได้ตัวนายราเกซมาฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน2540 และครั้งที่ 3 มีคำสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540เป็นต้นไปจนกว่าจะได้ตัวนายราเกซมาฟ้องคดีต่อศาลหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 นายราเกซ สักเสนาทำสัญญากู้เงินเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์กับผู้ร้องในวงเงินไม่เกิน 50,000,000บาท โดยให้ตั้งวงเงินไว้ในบัญชีทำนองบัญชีเดินสะพัดซึ่งนายราเกซจะเบิกเงินได้ตามจำนวน ตามเวลาที่ต้องการและผู้ร้องจะพิจารณาอนุญาตตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี และในกรณีที่เห็นสมควรนายราเกซผู้กู้ยินยอมให้ผู้ร้องขายหลักทรัพย์ที่อยู่ในครอบครองเพื่อชำระหนี้ได้ ในวันทำสัญญากู้ นายราเกซได้มอบอำนาจและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นตัวแทนและนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยตกลงให้ค่านายหน้าตามอัตราที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2537นายราเกซนำตั๋วสัญญาใช้เงินบริษัทเงินทุนยูเนี่ยนไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน)จำนวนเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี มาจำนำไว้กับผู้ร้องและมีการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16ตุลาคม 2538 นายราเกซนำตั๋วสัญญาใช้เงินบริษัทเงินทุนยูเนี่ยนไฟแนนซ์จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ11 ต่อปี จำนำกับผู้ร้องเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ โดยตกลงว่าหากผิดนัดไม่ชำระหนี้ยอมให้ผู้ร้องโอนเงินพร้อมดอกเบี้ยหักชำระหนี้ได้หลังจากนายราเกซทำสัญญากู้เงินกับผู้ร้องและสัญญาตั้งตัวแทนแล้ว ได้มีการซื้อหุ้นบริษัทฟินิคส์ เพาส์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 23 พฤษภาคม2537 และวันที่ 27 พฤษภาคม 2537 รวม 132,500 หุ้น เป็นเงินค่าซื้อหุ้น11,285,346 บาท แต่ผู้ร้องยังไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ผู้ร้องเรียกให้นายราเกซลูกหนี้ชำระหนี้ที่ติดค้างหลายครั้ง แต่นายราเกซเพิกเฉย ผู้ร้องประสงค์จะโอนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 950026183-11 พร้อมดอกเบี้ยเพื่อหักชำระหนี้แก่ผู้ร้อง แต่ไม่อาจทำได้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินของนายราเกซตามคำร้องของผู้คัดค้าน ผู้ร้องได้รับความเสียหายเนื่องจากนายราเกซเป็นหนี้ผู้ร้องในการซื้อขายหุ้นดังกล่าว 11,285,346 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันซื้อหลักทรัพย์ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนยูเนี่ยนไฟแนนซ์ จำกัด(มหาชน) เลขที่ 950026183-11 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2538 จำนวนเงิน10,000,000 บาท ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6 และหุ้นบริษัทฟินิคส์เพาส์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 132,500 หุ้น เพื่อผู้ร้องสามารถโอนเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินและนำหุ้นดังกล่าวออกขายนำมาหักชำระแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 950026183-11ของนายราเกซไว้กับผู้ร้องนั้น ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 926 ประกอบมาตรา 985, 752 เนื่องจากตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นตั๋วออกให้แก่บุคคลโดยนามและมีข้อความห้ามเปลี่ยนมือ ซึ่งจะโอนกันด้วยการสลักหลังไม่ได้ เมื่อไม่จดข้อความแสดงการจำนำไว้ให้ปรากฏในตั๋วสัญญาใช้เงิน การจำนำตั๋วนั้นจึงไม่สมบูรณ์ ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นจึงถือเป็นทรัพย์สินของนายราเกซ สักเสนาซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 46 นว แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านตรวจสอบพบว่านายราเกซ สักเสนา ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) กับพวกร่วมกันยักยอกทรัพย์ของธนาคารดังกล่าวไปจำนวน 1,657,000,000 บาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในหมวด 5 ของลักษณะ 12 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353 และ 354 ในฐานะผู้คัดค้านเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 46 นว แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 จึงได้ร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมตำรวจ (ปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ให้ดำเนินคดีแก่นายราเกซกับพวกในข้อหาดังกล่าว กับความผิดต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 ทศแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ ข้างต้น ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายราเกซกับพวกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2539 มีกำหนด 180 วันต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องนายราเกซกับพวกแต่นายราเกซหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ผู้คัดค้านจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายเวลาอายัดทรัพย์สินของนายราเกซไว้อีกรวม 3 ครั้ง ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินบริษัทเงินทุนยูเนี่ยนไฟแนนซ์ จำกัด ผู้ออกตั๋วเลขที่ 950026183-11 ลงวันที่ 16ตุลาคม 2538 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ของนายราเกซผู้รับเงินตามตั๋วตามสำเนาตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย ร.7 และหุ้นบริษัทฟินิคส์ เพาส์แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 132,500 หุ้น โดยอ้างว่านายราเกซให้ผู้ร้องเป็นผู้แทนซื้อและถือไว้แทนเพื่อนำมาหักชำระหนี้แก่ผู้ร้องที่ติดค้างอยู่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกับหุ้นบริษัทฟินิคส์ เพาส์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด(มหาชน) ตามคำร้องเป็นการชอบด้วยมาตรา 46 ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า การเพิกถอนคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกับหุ้นนั้นจะไม่ทำให้ประชาชนเสียหาย เพราะผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นในหนี้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 282 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นของบริษัทฟินิคส์ เพาส์แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) นั้น กลับทำให้ผู้ร้องซึ่งประกอบอาชีพโดยสุจริตได้รับความเสียหายไม่มีที่สิ้นสุดเพราะดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ จนขณะนี้ท่วมหลักประกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นนั้น ย่อมไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนแต่อย่างใดนั้นพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 46 นว บัญญัติว่า”ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามบทบัญญัติในหมวด 1 หมวด 3 หมวด 4 หมวด 5 หรือหมวด 7 ของลักษณะ 12 แห่งประมวลกฎหมายอาญา”
กรณีพิพาทนี้ได้ความว่า ก่อนที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทดังกล่าว เนื่องจากผู้คัดค้านตรวจสอบพบว่านายราเกซ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคารดังกล่าวไปจำนวน1,657,000,000 บาท ซึ่งเป็นการต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาตามที่ระบุไว้ในมาตรา 46 นว (1) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505ดังกล่าว ทั้งเมื่อพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องนายราเกซกับพวกในข้อหาดังกล่าวแล้ว นายราเกซได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ และผู้คัดค้านเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทที่นายราเกซเป็นเจ้าของกับหุ้นของบริษัทฟินิคส์เพาส์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ของนายราเกซดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทของนายราเกซเป็นมาตรการป้องกันมิให้นายราเกซยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึดทรัพย์หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิตามเอกสารสิทธิต่าง ๆ ของตนเปลี่ยนมือไปให้แก่บุคคลอื่นโดยมิชอบอันอาจส่งผลให้เจ้าหนี้ทั้งปวงกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆที่นายราเกซเป็นหนี้อยู่ได้รับความเสียหายและถูกกระทบกระเทือนเพราะเหตุการกระทำทุจริตของนายราเกซดังกล่าว ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นคำสั่งที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนตามบทบัญญัติข้างต้นแล้วมิใช่เป็นคำสั่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนดังที่ผู้ร้องอ้าง
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องกับนายราเกซตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าและมีผลสมบูรณ์แล้ว จึงมีสิทธิร้องขอ เพิกถอนคำสั่งอายัดได้ และถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนำตั๋วสัญญาใช้เงิน ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นสำหรับหุ้นพิพาทผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองหุ้นโดยมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครอง จึงมีสิทธิยึดหน่วงและบังคับให้ชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเช่นเดียวกัน ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินพิพาทนั้น เห็นว่า ผู้ร้องยังมิได้ฟ้องนายราเกซเกี่ยวกับหนี้สินตามคำร้องแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่านายราเกซเป็นหนี้ผู้ร้องและมีข้อตกลงต่าง ๆ ระหว่างผู้ร้องกับนายราเกซดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ร้องตามที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกาอีกต่อไป ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่อายัดทรัพย์สินของนายราเกซได้”
พิพากษายืน