คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4897/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยที่โจทก์นำมาฟ้องตกเป็นโมฆะเพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หากศาลพิจารณาได้ความจริงดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ศาลก็มีอำนาจชี้ขาดให้ยกฟ้องโจทก์ซึ่งมีผลทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้อยู่แล้ว จำเลยจึงไม่จำต้องฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนและทำลายสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้สิ้นผลบังคับต่อกันอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานั้นซ้ำอีก จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและบังคับจำนอง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 สำคัญผิดในสาระสำคัญของสัญญากู้ยืมในเรื่องผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ ในเรื่องการผิดนัดที่ว่าหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งแล้วให้โจทก์ฟ้องบังคับคดีได้ทันที สัญญาจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนสัญญากู้ยืมตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นตรวจคำให้การและฟ้องแย้งแล้ว มีคำสั่งให้รับเป็นคำให้การจำเลยที่ 1 สำหรับฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมและไม่มีทางชนะคดี จึงไม่รับ

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนทำลายสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติว่า “จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้วให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก” ดังนี้เห็นว่า แม้การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น นอกจากจำเลยที่ 1 จะให้การต่อสู้คดีแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิฟ้องโจทก์ในเรื่องเดียวกันนั้นเข้ามาในคดีเดียวกันได้ด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากคดีนี้จำเลยที่ 1ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในข้อ 3 แล้วว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะเพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งหากศาลพิจารณาได้ความจริงดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเป็นข้อต่อสู้มานั้น ศาลก็มีอำนาจชี้ขาดให้ยกฟ้องโจทก์ ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนและทำลายสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวให้สิ้นผลบังคับต่อกันอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานั้นซ้ำอีก”

พิพากษายืน

Share