คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2284/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อความที่ว่า จำเลยไม่ได้นำเงินของโจทก์ซึ่งได้จากการประมูลแชร์เข้าบัญชีของโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนให้ จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน เพื่อจะขอนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลด้วยตนเอง ไม่มีตอนใดแสดงความหมายว่ามีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนและการแจ้งความของโจทก์ไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย คดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่าการแจ้งความของโจทก์เป็นคำร้องทุกข์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนมูลฟ้องว่า บริษัทโจทก์ประมูลแชร์ได้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2524 หัวหน้าวงแชร์จ่ายเช็ค 9 ฉบับ จำนวนเงิน 313,450 บาท ให้จำเลยซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ในขณะนั้น จำเลยไม่ได้นำเงินตามเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีของโจทก์โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2525 จึงมอบอำนาจให้นายชัยยงค์ บัวเพชร์ทนายความแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2525 ปรากฏใจความที่แจ้งตามสำเนารายงานประจำวันคดีของสถานีตำรวจดังกล่าวเอกสารหมาย จ.5 ว่าจำเลยไม่ได้นำเงินจำนวน 313,4450 บาท ของโจทก์ซึ่งได้จากการประมูลแชร์เข้าบัญชีของโจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ยอมคืนให้ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน เพื่อจะขอนำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง ครั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2525 โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เห็นว่าข้อความที่แจ้งดังกล่าวไม่มีตอนใดมีความหมายแสดงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยโดยเฉพาะข้อความที่ว่า จึงมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะขอนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลด้วยตนเอง” แสดงชัดว่าโจทก์หามีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยไม่ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 46 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share