คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การให้เงินหรือสิ่งของแก่บิดาเพื่อเป็นการช่วยเหลือเจือจุนบิดาในขณะยากไร้นั้นไม่จำเป็นต้องให้มากมายอันจะเป็นเหตุให้บุตรต้องเดือดร้อน แต่เป็นการให้ตามควรแก่ฐานะของบุตรพอสามารถจะให้ได้ ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการให้หรือการช่วยเหลือโดยสิ้นเชิง นอกจากจะถือว่าเป็นเหตุเนรคุณต่อบิดาผู้ให้แล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการขาดความกตัญญูกตเวทีต่อบิดาด้วย จึงเป็นเหตุให้ผู้ให้เรียกถอนคืนการให้ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 28027 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมโอน ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองคำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1722 เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ยกให้แก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1313 เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ตกได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในชั้นฎีกาคงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 รวมทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งคดียุติไปแล้วเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์เกิดจากนางเจียรโจทก์กับนางเจียรจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี พ.ศ. 2490 และอยู่กินร่วมกันตลอดมาจนเกิดบุตรได้แก่จำเลยทั้งสี่ เมื่อปี พ.ศ. 2513 นางเจียรถึงแก่กรรม โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางเจียร ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแล้วปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1330/2513 ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 โจทก์ได้ภริยาใหม่โดยได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวสมพร แซ่ล้อ แต่ต่อมานางสมพรได้ฟ้องหย่ากับโจทก์ ศาลได้มีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10930/2520 ของศาลแพ่ง หลังจากที่โจทก์ได้รับคำสั่งของศาลแพ่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกนางเจียร และก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับนางสมพร ในปี พ.ศ. 2519 โจทก์ได้จดทะเบียนนิติกรรมยกให้ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 28027 เฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยทั้งสี่ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วม ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนการให้ในโฉนดเลขที่ 28027 หมาย จ.5 ต่อมาปีเดียวกันโจทก์ได้ยกให้ซึ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1722 เฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ปรากฎตามสารบัญจดทะเบียนการให้ในโฉนดเลขที่ 1722 หมาย จ.6 และโจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางเจียรตามคำสั่งศาล ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1313 ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 24 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา ให้แก่จำเลยทั้งสี่ผู้เป็นทายาทของนางเจียร ปรากฏตามสารบัญการจดทะเบียนในโฉนดเลขที่ 1313 หมาย จ.7” ฯลฯ

“ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อมาว่า จำเลยทั้งสองได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันจะเป็นเหตุให้เรียกคืนซึ่งการให้ที่ดินดังกล่าวนั้นได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เองก็รับในชั้นโจทก์ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์ไม่มีอาชีพ มีฐานะยากจนและยากไร้ ส่วนเหตุอ้างที่ไม่ยอมให้การช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่โจทก์ โดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองไม่อยู่ในฐานะพอจะช่วยได้ นั้น ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยทั้งสองนั้นเองว่า เดิมเมื่อโจทก์อาศัยอยู่ร่วมเรือนกับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองก็เคยให้การอุปการะช่วยเหลือทางด้านการเงินตลอดมาตามควรแก่ฐานะของจำเลย หลังจากที่โจทก์หนีออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น โจทก์มาขอความช่วยเหลือด้านการเงินอีกหลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โดยอ้างเหตุต่าง ๆ จึงเป็นการขัดกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะของจำเลยที่อ้างว่าไม่สามารถจะให้ได้ดังกล่าว ความจริงแล้ว การให้เงินหรือสิ่งของแก่โจทก์เพื่อเป็นการช่วยเหลือเจือจุนโจทก์ในขณะยากไร้นั้น ไม่จำเป็นต้องให้มากมายอันจะเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองต้องเดือดร้อน แต่เป็นการให้ตามควรแก่ฐานะของจำเลยทั้งสองพอสามารถจะให้ได้ ไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการให้หรือการช่วยเหลือโดยสิ้นเชิงนอกจากจะถือว่าเป็นเหตุเนรคุณต่อโจทก์ผู้ให้แล้วยังถือได้ว่าเป็นการขาดความกตัญญูกตเวทีต่อบิดาผู้มีพระคุณของบุตรนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนการให้ซึ่งที่ดินตามฟ้องแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

Share