แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การขีดฆ่าอากรแสตมป์หมายถึงการกระทำใดๆ เพื่อมิให้ใช้ อากรแสตมป์นั้นได้อีกเท่านั้น ส่วนการที่ระบุวันเดือนปีพร้อมกับขีดฆ่านั้นเพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้มีการปิดและขีดฆ่าเมื่อใดเท่านั้น เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนมีคำพิพากษา แม้ไม่ได้ลงวันที่ที่ขีดฆ่า ก็รับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 85,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2520 โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินของจำเลย เนื้อที่ 53 ไร่ ในราคา 155,000 บาท โจทก์ได้วางเงินมัดจำในวันทำสัญญาเป็นเงิน 2,000 บาท ส่วนราคาที่ดินที่เหลือ โจทก์จำเลยตกลงแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรก 70,000 บาท ชำระภายในวันที่ 30 มีนาคม 2521 งวดที่สองชำระส่วนที่เหลือภายในวันที่ 30 มีนาคม 2522 และจำเลยจะโอนที่ดินนาทั้งหมดให้โจทก์ ณ ที่ทำการที่ดินอำเภอแม่สายทันทีที่ได้รับเงินทั้งหมดต่อหน้าพนักงานที่ดินอำเภอแม่สาย รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2521 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินระบุหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ดินไว้ 3 แปลง ส่วนอีก 1 แปลงไม่ระบุ ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2191 เลขที่ดิน 144 เลขที่ 2416 เลขที่ดิน 161 และเลขที่ 2417 เลขที่ดิน 162 ทั้งสามแปลงนี้เป็นที่ดินซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน” ฯลฯ
“ที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นใบรับเงิน แม้จะปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าแล้ว แต่ไม่ลงวันที่ที่ขีดฆ่า และใบรับเงินตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่ปิดอากรแสตมป์ เอกสารทั้งสองฉบับจึงรับฟังเป็นพยานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การขีดฆ่าอากรแสตม์ปหมายถึง การกระทำใด ๆ เพื่อมิให้ใช้อากรแสตมป์นั้นได้อีกเท่านั้น ส่วนการที่ระบุวันเดือนปี พร้อมกับขีดฆ่านั้นเพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้มีการปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าเมื่อใดเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เอกสารหมาย จ.2 ได้มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนมีคำพิพากษา เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใด ส่วนใบรับเงินตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น แม้ไม่ปิดอากรแสตม์ปและรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แต่เมื่อจำเลยนำสืบรับว่าจำเลยได้รับเงิน18,000 บาทจากโจทก์ตามวันเวลาดังกล่าว ดังนั้น แม้จะไม่รับฟังพยานเอกสารหมาย จ.4 ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบรับว่าโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลย 18,000 บาทตามวันเวลาดังกล่าวจริง ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น” ฯลฯ
“เมื่อสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ ทั้งจำเลยได้รับที่ดินคืนจากโจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์เต็มจำนวนที่ได้รับไปจากโจทก์ เพราะเป็นการรับเงินไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ผิดสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการให้เช่าทำนาก็ดี จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่ก็ดี พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะมาแต่แรก จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่ และจำเลยไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเพราะจำเลยสมัครใจให้โจทก์เข้าทำนาเอง ทั้งจำเลยก็ได้รับประโยชน์จากเงินของโจทก์แล้ว และไม่ใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาทแทนโจทก์