คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 152/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กฎหมายลักษณะผัวเมียและ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้บัญญัติว่า เมื่อสามีละทิ้งภริยาเพียงอย่างเดียวเป็นเหตุให้ขาดจากการสมรส ฉะนั้นเมื่อ พ. กับโจทก์เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมา พ. ละทิ้งร้างโจทก์ไปหลายปีแล้วกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันอีกหลังจากประกาศใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม ก็ต้องถือว่า พ. และโจทก์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ พ. ถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ.2514
โจทก์ในฐานะทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก โดยที่ผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนของทายาททั้งปวง และถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท ทายาทไม่จำต้องเข้าครอบครองทรัพย์มรดก จำเลยจะยกอายุความ 1 ปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้
การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาซึ่งสมรสกันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ซึ่งบัญญัติว่าถ้าชายมีสินเดิมฝ่ายเดียว หญิงไม่มีสินเดิม ชายได้สินสมรสทั้งหมด หญิงไม่มีส่วนได้เลย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและห้องแถวพิพาท โดยคิดหักใช้ราคาสินเดิมแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน1,600 บาท ที่เหลือแบ่งโจทก์ที่ 1 หนึ่งในสามส่วน แบ่งแก่นายพลึงสองในสามส่วน ที่เป็นส่วนของนางพลึงอันเป็นมรดกแบ่งแก่โจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น 10 คน 12 คน คนละหนึ่งส่วน ให้เพิกถอนการโอนที่ดิน 2 โฉนด เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้นำมาแบ่งต่อไป ในการจัดแบ่งหากไม่อาจทำได้ให้ประมูลราคากัน หรือมิฉะนั้นให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ยกคำขอที่ขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดก จำเลยทั้งหกฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาดังนี้ โจทก์ที่ 1 กับนายพลึง แสงอิ่ม เป็นสามีภริยากันตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยนายพลึงมีสินเดิม โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 และนายพลึงส่วนจำเลยที่ 1 เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกับนายพลึง นายพลึงมีบุตรกับโจทก์ที่ 1 รวม 4 คน มีบุตรกับนางเซี้ยะรวม 3 คน และมีบุตรกับนางพาน 4 คน รวม 11 คน ปรากฏตามบัญชีเครือญาติท้ายฟ้อง นายพลึงถึงแก่กรรมเมื่อเดือนธันวาคม 2514 ศาลจังหวัดลพบุรีมีคำสั่งแต่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 186/2516 ทรัพย์พิพาทมีที่ดินโฉนดเลขที่ 8218 เฉพาะส่วนของนายพลึงเนื้อที่ 1 งาน 50 เศษ 8 ส่วน 10 ตารางวาราคาประมาณ 15,000 บาท และห้องแถว 5 ห้องที่ปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว ราคาประมาณ 50,000 บาท ที่ดินดังกล่าวนั้นจำเลยที่ 1 ได้จัดการแบ่งแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 25651 ถึง 25657 รวม 7 แปลง (รวมโฉนดเลขที่ 8218 เป็น 8 แปลง) จำเลยที่ 1 ได้จัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 25653 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และโอนกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 25655 ให้แก่จำเลยที่ 6 แล้ว

คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายพลึง แสงอิ่ม ในขณะที่นายพลึงถึงแก่กรรมหรือไม่ พิเคราะห์แล้วโจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และนายพลึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 กับนยพลึงเป็นสามีภริยากันตามกฎหมายเก่า ต่อมา พ.ศ. 2477 นายพลึงทะเลาะวิวาทกับโจทก์ที่ 1แยกบ้านไปอยู่คนละบ้าน นายพลึงไปได้นางหรัดหรือจำรัสเป็นภริยา อยู่กินกันประมาณ 3 – 4 ปี นายพลึงไม่ได้ไปมาหาสู่โจทก์ที่ 1 จึงขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ต่อมานางหรัดหรือจำรัสถึงแก่กรรม นายพลึงได้นางเยื้อนเป็นภริยาอยู่กินกันประมาณ 5 ปี จึงปลูกเรือน 1 หลังใกล้เรือนโจทก์ที่ 1 แม้ว่าจะไปมาหาสู่โจทก์ที่ 1 อีกก็ได้จดทะเบียนสมรสกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ให้การว่าโจทก์ที่ 1 กับนายพลึงเป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และได้ร้างกันก่อนใช้บทกฎหมายดังกล่าว โดยนางพลึงได้นางหรัดหรือจำรัสเป็นภริยา แต่ต่อมานายพลึงกับโจทก์ที่ 1 ได้กลับมาอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามเดิมหลังจากประกาศใช้บทกฎหมายดังกล่าวโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ที่ 1 จึงเป็นภริยาร้างตามกฎหมายเก่า ศาลฎีกาเห็นว่าตามกฎหมายลักษณะผัวเมียก็ดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ดี ไม่ได้บัญญัติว่า เมื่อสามีละทิ้งภริยาเพียงอย่างเดียวเป็นเหตุให้ขาดจากการสมรสแม้แต่กฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 49, 50 และ 51 ที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา ก็มิได้บัญญัติดังกล่าว กรณีต้องมีองค์ประกอบอย่างอื่นอีก ดังนั้นถึงหากข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่านายพลึงละทิ้งร้างจากโจทก์ที่ 1 ไปหลายปีแล้วกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันอีกหลังจากประกาศให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยที่มิได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม กรณีก็ต้องถือว่านายพลึงและโจทก์ที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่นายพลึงถึงแก่กรรมเมื่อเดือนธันวาคม 2514 ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4 บัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึง (1) การสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดจากการสมรสนั้น ๆ” ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น” ฯลฯ

“ปัญหาวินิจฉัยข้อที่สามมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทของเจ้ามรดก ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งการจัดการมรดกมิใช่จัดการเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1720 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ทำตามคำสั่งพินัยกรรม จัดการมรดกทั่วไป และแบ่งปันทรัพย์มรดก ทั้งยังต้องรับผิดต่อทายาทอีกด้วย ผู้จัดการมรดกจึงเป็นตัวแทนของทายาททั้งปวง และถือว่าครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท ทายาทจึงไม่จำต้องเข้าครอบครองทรัพย์มรดก จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจะยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาได้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น” ฯลฯ

“เมื่อปรากฏว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ที่ 1กับนายพลึง และโจทก์ที่ 1 ไม่มีสินเดิม การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาซึ่งสมรสกันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เมื่อ พ.ศ. 2477 ต้องแบ่งกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าชายมีสินเดิมฝ่ายเดียว หญิงไม่มีสินเดิม ชายได้สินสมรสทั้งหมดหญิงไม่มีส่วนได้เลย ดังนั้นที่ดินและห้องแถวพิพาทจึงเป็นมรดกของนายพลึงทั้งหมดและตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย โดยตกได้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 และทายาทอื่นอีก 10 คน รวม 12 คน คนละหนึ่งส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จัดการแบ่งที่ดินและห้องแถวพิพาท5 ห้อง ให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 คนละหนึ่งในสิบสองส่วน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

Share