คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3569/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินตามเช็ค จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์และถ้าหากศาลอุทธรณ์เห็นว่ายังไม่สมควรให้ยกฟ้องก็ขอให้สั่งพิจารณาคดีใหม่ ดังนี้ จำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ เพราะหาได้อุทธรณ์ว่าตนมิได้จงใจขาดนัดเพียงประการเดียวไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระ จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีเสียได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2เป็นผู้สลักหลังเช็ครับอาวัลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายโจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยสลักหลังเช็ค โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยสุจริตฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์แต่ชำระค่าขึ้นศาลมาเพียง 200 บาทอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ ไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยที่ 2 ชำระค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่ จำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ยอมชำระ ศาลอุทธรณ์ถือว่าจำเลยที่ 2 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ พิพากษาให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นประการแรก หากศาลอุทธรณ์เห็นว่ายังไม่สมควรให้ยกฟ้องโจทก์ก็ขอให้สั่งพิจารณาคดีใหม่เพราะจำเลยที่ 2 มิได้จงใจขาดนัดพิจารณากรณีเช่นนี้จำเลยที่ 2 จะต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ เพราะมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มิได้จงใจขาดนัดพิจารณาแต่เพียงประการเดียวฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกให้จำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมให้ถูกต้องเสียก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ชอบแล้วเมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้วแต่จำเลยที่ 2 กลับเพิกเฉยเสีย ไม่ยอมชำระค่าขึ้นศาลที่ยังขาดอยู่ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจให้จำหน่ายคดีเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2), 132(1) และมาตรา 246

พิพากษายืน

Share