คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยนั้น แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยเคยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้เถียงไว้ในคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ เพราะจำเลยไม่ได้ยกข้อโต้เถียงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งของโจทก์ได้สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า กรณีไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายเพราะเป็นเหตุสุดวิสัยโจทก์จึงไม่อาจรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อกระทรวงการคลังแจ้งความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งว่าจำเลยขับรถโดยประมาทต้องรับผิดทางแพ่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน สมอ 43099ของโจทก์ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา จำเลยขับโดยความประมาทชนกำแพงเรือนจำทหารเรือกรุงเทพเสียหายคิดเป็นเงิน 1,600 บาท และรถเสียหายคิดเป็นเงิน 42,010 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายรวม 43,610บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยเนื่องจากถนนตรงที่เกิดเหตุเกิดยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้รถเสียหลักพุ่งชนกำแพงเรือนจำทหารเรือกรุงเทพ ค่าเสียหายไม่เกิน10,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2526 จำเลยได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน สมอ43099 ของโจทก์ชนกำแพงเรือนจำทหารเรือกรุงเทพของโจทก์ เป็นเหตุให้กำแพงและรถของโจทก์เสียหาย โจทก์ได้ตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง กรรมการดังกล่าวสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า กรณีไม่สมควรมีผู้หนึ่งผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพราะเป็นเหตุสุดวิสัย โจทก์ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงการคลังทราบ กระทรวงการคลังเสนอเรื่องให้คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วมีความเห็นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2528 ว่า จำเลยขับรถโดยประมาทต้องรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลังได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ยอมใช้ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย นั้นแม้ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยเคยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้เถียงไว้ในคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ เพราะจำเลยไม่ได้ยกข้อโต้เถียงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ได้ความว่ากรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งของโจทก์ได้สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า กรณีไม่สมควรมีผู้หนึ่งผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพราะเป็นเหตุสุดวิสัย โจทก์ทราบความเห็นของกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2527 ปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.3 เห็นว่า ตามความเห็นของกรรมการดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้มีการละเมิดและมีผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใดในขณะนั้น โจทก์จึงไม่อาจรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ โจทก์เพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อกระทรวงการคลังแจ้งความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง ซึ่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีให้โจทก์ทราบว่าจำเลยขับรถโดยประมาทต้องรับผิดทางแพ่ง หลังวันที่21 มีนาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2529 ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก…”
พิพากษายืน.

Share