คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมิได้แจ้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าได้ตกลงกับจำเลยหรือได้นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดสามเดือนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 17 มาตรานี้ ก็เพียงแต่ให้นายทะเบียนฯ รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของฝ่ายที่ยื่นขอจดทะเบียนก่อนเท่านั้นต่อมาเมื่อนายทะเบียนฯประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 21 เพื่อดำเนินการรับจดทะเบียนต่อไปโจทก์กลับยื่นคำคัดค้านตามมาตรา 22 และจำเลยยื่นคำโต้แย้งแล้ว นายทะเบียนฯก็หาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าโดยตรงไม่ แต่ย้อนไปวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าเพราะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาก่อนอันเป็นการอ้างเหตุตามมาตรา 17 โจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับตามมาตรา 22 วรรคสี่และวรรคห้า ดังนั้นเมื่อนายทะเบียนฯ รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยแล้วถ้าหากโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “King cup” ประกอบด้วยรูปมงกุฎกับถ้วยรางวัลอยู่ในวงกลม และได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เมื่อวันที่ 8 มกราคม2518 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนที่ 86, 958 สำหรับสินค้าจำพวก 42ซึ่งได้รับจดทะเบียนแล้วตามทะเบียนที่ 66696 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ได้นำไปจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย

จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าตามที่โจทก์ฟ้องนั้น จำเลยได้ใช้กับสินค้าเครื่องกระป๋องของจำเลยติดต่อกันเรื่อยมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2501 จนถึงปัจจุบันและได้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อกองทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวกซึ่งโจทก์ทราบดีและได้ยื่นคำคัดค้านไว้ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามที่ขอจดทะเบียนไว้ โจทก์มิได้นำคดีมาสู่ศาลและมิได้แจ้งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าทราบถึงการนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด 90 วัน นับแต่ได้รับคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยต่างขอจดทะเบียนเครื่องหมายอันเดียวกันหรือเกือบเหมือนกัน ใช้สำหรับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวกเช่นเดียวกันนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีหนังสือแจ้งไปยังทั้งสองฝ่ายว่าขอซ้ำกันให้ตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล อันเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 17แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งมีบทบังคับต่อไปว่าภายในสามเดือนนับแต่วันที่ได้ส่งหนังสือไป ถ้านายทะเบียน เครื่องหมายการค้าไม่ได้รับแจ้งว่าผู้ขอจดทะเบียนได้ตกลงกันแล้วหรือได้นำคดีไปสู่ศาลแล้วให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ที่ขอก่อนปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดสามเดือนแล้วโจทก์หรือจำเลยหาได้แจ้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดไม่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีหน้าที่ต้องรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งยื่นขอจดทะเบียนก่อนโจทก์ ต่อมาเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 21 เพื่อดำเนินการรับจดทะเบียนต่อไป โจทก์กลับยื่นคำคัดค้านตามมาตรา 22 อ้างว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนนั้นเป็นของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิขอจดทะเบียน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามิได้ยกคำคัดค้านของโจทก์ทันทีแต่ส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังจำเลย เมื่อจำเลยยื่นคำโต้แย้งว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่แท้จริง นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็มิได้วินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายพิพาทแต่ย้อนไปวินิจฉัยว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบแล้วว่าขอจดทะเบียนซ้ำกัน ให้ตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล เมื่อครบกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่มีฝ่ายใดแจ้งว่าได้ดำเนินการไปแล้วประการใด จึงจำต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าเพราะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาก่อน ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์อันเป็นการอ้างเหตุตาม มาตรา 17 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเท่ากับอ้างว่าเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านตามมาตรา 22 หาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายพิพาทโดยตรงไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านตามมาตรา 22 โจทก์ย่อมไม่ตกอยู่ในบังคับที่จะต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดเก้าสิบวันตามมาตรา 22 วรรคสี่และวรรคห้าถึงแม้โจทก์จะมิได้แจ้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่าได้ตกลงกับจำเลยหรือได้นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดสามเดือนตามมาตรา 17 บทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็เพียงแต่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของฝ่ายที่ยื่นขอจดทะเบียนก่อนหาได้ตัดสิทธิเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงที่จะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ ดังนั้น เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยแล้วถ้าหากโจทก์เป็นเจ้าของซึ่งมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้ารายพิพาทจึงยังไม่สิ้นไป

เมื่อวินิจฉัยดังนี้ ย่อมมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share