แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ขอให้ออกคำบังคับให้จำเลยชำระหนี้ครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยได้ชำระเงินตามจำนวนที่เจ้าพนักงานของศาลคิดให้ตามที่จำเลยร้องขอ เมื่อจำนวนเงินที่ชำระนั้นยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาโจทก์ก็มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีเพื่อเอาชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่ได้เนื่องจากการบังคับคดียังไม่สิ้นสุด และไม่เป็นการบังคับคดีซ้ำ
ย่อยาว
โดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาคือ เงินต้น 43,000 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 18,275 บาท และดอกเบี้ยในเงิน 43,000 บาท อัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ พร้อมทั้งค่าทนายความชั้นฎีกา 800 บาท โจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ศาลออกคำบังคับแก่จำเลยตามจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยชำระเงินต้น 43,000 บาท กับดอกเบี้ย18,275 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าทนายความชั้นฎีกา 800 บาท จำเลยทราบคำบังคับแล้ว ได้นำเงิน 64,508.50 บาท มาวางศาลโจทก์ยื่นคำร้องว่ายังขาดอยู่อีก 17,545 บาท จำเลยยื่นคำร้องว่าปฏิบัติตามคำบังคับครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นนัดพร้อม แล้วมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินที่ยังชำระไม่ครบไปชำระแก่โจทก์ให้ครบภายใน 1 เดือน นับแต่วันนัดพร้อม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏในคำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลออกคำบังคับว่า โจทก์ขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนตามที่ศาลพิพากษามาทุกประการ การออกคำบังคับการส่งคำบังคับแก่จำเลย ตลอดจนการคิดเงินตามคำบังคับนั้นเป็นหน้าที่ของศาลและเจ้าพนักงานของศาลโจทก์มิได้เกี่ยวข้องด้วยเลย ดังปรากฏในท้องสำนวนว่าการส่งคำบังคับแก่จำเลยกระทำโดยพนักงานเดินหมายโดยลำพัง และปรากฏในคำแถลงของจำเลยฉบับลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2523 ว่าเจ้าหน้าที่การเงินของศาลแพ่งเป็นผู้คิดยอดจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระแจ้งให้จำเลยทราบ ตามที่จำเลยขอให้คิด เมื่อเจ้าหน้าที่แจ้งยอดให้ทราบแล้ว จำเลยก็ได้ชำระในวันนั้นเอง จึงฟังว่าโจทก์ได้ทราบคำบังคับและจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องชำระตามคำบังคับนั้นอยู่แล้ว และการที่โจทก์ไม่คัดค้านคำบังคับก่อนที่จะนำส่งแก่จำเลย แสดงว่าโจทก์พอใจที่จะบังคับเอาแก่จำเลยตามคำบังคับของศาลเพียงจำนวนตามนั้น ดังที่จำเลยฎีกามาไม่ได้ ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด จำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระให้โจทก์ให้ครบตามจำนวนนั้น การที่จำเลยนำเงินมาวางศาลเพื่อชำระให้โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีเพื่อเอาชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดอยู่ได้ การบังคับคดียังไม่สิ้นสุดและไม่เป็นการบังคับซ้ำดังที่จำเลยฎีกา”
พิพากษายืน