คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วัตถุประสงค์ขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ตาม พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น แสดงว่ากิจการ ที่องค์การดังกล่าวดำเนินการหาใช่งานเกษตรไม่ และการประกอบ ธุรกิจขององค์การก็เป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไร ในทางเศรษฐกิจ และองค์การนี้ก็ไม่ใช่ส่วนราชการที่เป็นกรมหรือ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย จึงไม่ได้รับยกเว้นมิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับ
การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือเกษียณอายุ ไม่เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน เมื่อพนักงานต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงานซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้
เงินกองทุนบำเหน็จตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเป็นเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่อาจถือว่าเป็นค่าชดเชยได้
การฟ้องเรียกค่าชดเชยไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า กิจการที่จำเลยดำเนินการเป็นงานเกี่ยวกับการเกษตรกรรมซึ่งได้แก่งานเพาะปลูก ประมง เลี้ยงสัตว์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 1 พิเคราะห์แล้ว พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2501 มาตรา 4 ให้จัดตั้งองค์การขึ้นองค์การหนึ่งเรียกว่า “องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ” เรียกโดยย่อว่า “อ.ย.” มาตรา 6 อ.ย. มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (1) อำนวยบริการแก่รัฐและประชาชนในการอุตสาหกรรมห้องเย็น (2) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมห้องเย็น ช่วยเหลือ แนะนำและจัดบริการค้นคว้าทางวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินงานทั่วไปของโรงงานห้องเย็นและโรงงานน้ำแข็งและธุรกิจที่ต่อเนื่องหรือคล้ายคลึงกัน รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นใดที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมห้องเย็น วัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 นี้ ได้มีมาแต่เดิมตามประวัติในเอกสารหมาย เลข 1 ท้ายคำให้การจำเลย ตามวัตถุประสงค์ขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นดังกล่าวแสดงว่ากิจการที่องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นดำเนินการ หาใช่งานเกษตรอันได้แก่งานเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 แต่ประการใดไม่ หากจะแปลความหมายของคำว่างานเกษตรให้รวมไปถึงการกำหนดราคา การรักษาไม่ให้เสียหาย และการหาตลาดด้วยแล้วก็จะหาความหมายของคำว่างานเกษตรให้ยุติมิได้

จำเลยอุทธรณ์ว่า กิจการของจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ พิเคราะห์แล้ว พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2501 มาตรา 6 บัญญัติว่า “อ.ย. มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) อำนวยบริการแก่รัฐและประชาชนในการอุตสาหกรรมห้องเย็น (2) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมห้องเย็น ช่วยเหลือแนะนำและจัดบริการค้นคว้าทางวิชาการเกี่ยวกับการดำเนินงานทั่วไปของโรงงานห้องเย็น และโรงงานน้ำแข็งและธุรกิจที่ต่อเนื่องหรือคล้ายคลึงกัน รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นใดที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมห้องเย็น” และเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในมาตรา 6 องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นมีอำนาจรวมถึงถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองที่ดิน และทรัพย์สินอื่น ๆ มีสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อขาย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม จัดหา จำหน่าย แลกเปลี่ยน โอน และรับโอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งที่ดินทรัพย์อื่น ๆ หรือสิทธิต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ เพื่อประโยชน์ในการอุตสาหกรรมห้องเย็น ทำการค้า การสะสม การรวบรวมผลิตผลที่เกิดจากการกสิกรรมการปศุสัตว์ การประมง และการทำการผลิตน้ำแข็ง กู้ยืมเงิน ให้กู้ ให้ยืมเงินสร้างโรงงานห้องเย็น โรงงานน้ำแข็ง เรือห้องเย็น รถห้องเย็น หรือร้านค้าผลิตผลแห่งอุตสาหกรรมห้องเย็น ตั้งและรับเป็นสาขาตัวแทน ตัวแทนค้าต่างหรือนายหน้า ในกิจการต่าง ๆ ของเอกชน หรือนิติบุคคลใด ๆ ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ร่วมการงานหรือสมทบกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แก่กิจการของ อ.ย. รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วน จำพวกจำกัด ความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 และตามมาตรา 12 บัญญัติถึงรายได้ประจำปี รายได้ประจำปีเมื่อได้หักราคาทุน หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และหักค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสมแล้วเหลือเป็นกำไรสุทธิประจำปีเท่าใด อาจจัดสรรไว้เป็นเงินสำรอง เงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์พนักงานและคนงาน เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ และปรากฏตามโครงการจัดตั้งองค์การห้องเย็นและโรงน้ำแข็ง กระทรวงเกษตร เอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำให้การจำเลยมีหลักการสำคัญหลายประการซึ่งรวมถึง ช่วยให้รัฐได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และหาผลกำไรเป็นเงินรายได้ ของรัฐในการดำเนินกิจการขององค์การ จะเห็นได้ว่าตามวัตถุประสงค์อำนาจในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และโครงการจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นดังกล่าวมาแล้ว เป็นการประกอบธุรกิจทำการค้าหากำไรเช่นเดียวกับกิจการของเอกชนทั่วไป แม้ว่าตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นจำเลยเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้บริโภค ช่วยเหลือผู้เพาะปลูก ชาวประมงและผู้เลี้ยงสัตว์ซึ่งก็เป็นนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลทั่ว ๆ ไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 ว่า “เมื่อรัฐบาลเห็นเป็นการสมควรจะจัดตั้งองค์การเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือในการครองชีพ หรืออำนวยบริการแก่ประชาชนโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” องค์การที่รัฐบาลอาจจัดตั้งขึ้นได้ตามมาตรา 3 นั้น อาจมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นจำเลยจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือในการครองชีพ หรืออำนวยบริการประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจทำการค้าหากำไรแต่หาใช่องค์การเพื่อดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ไม่ เพราะมิใช่ดำเนินกิจการอย่างบริการสาธารณะหรือบริการให้เปล่า การประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจ หรือช่วยเหลือในการครองชีพ หรืออำนวยบริการประชาชน ตามที่ปรากฏในวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งและหลักการสำคัญตามเอกสารหมายเลข 1 และหมายเลข 2 และตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2501 นั้น มิได้หมายความว่าจะแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจมิได้ การประกอบธุรกิจขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นจำเลย เป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่ได้รับยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515

จำเลยอุทธรณ์ว่า องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นจำเลยเป็นส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นราชการส่วนกลางพิเคราะห์แล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีส่วนราชการที่เป็นกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น 11 ส่วนราชการตามประกาศของคณะประวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ข้อ 14 และให้แบ่งส่วนราชการในกรม เป็น (1) สำนักงานเลขานุการกรม (2) กอง (3) แผนก กรมใดมีความจำเป็นหรือเหตุผลพิเศษจะแบ่งส่วนราชการโดยให้มีส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเทียบกองหรือแผนกก็ได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ข้อ 31 ส่วนราชการที่เป็นกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น 11 ส่วนราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และส่วนราชการของกรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเทียบกองหรือแผนก ตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวแล้ว หามีองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นรวมอยู่ด้วยไม่ องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. 2496 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2501 จึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเป็นองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแยกต่างหากจากส่วนราชการองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นจึงมิใช่ราชการส่วนกลาง อันจะได้รับยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 1 การที่องค์การของรัฐเช่นจำเลยมีส่วนราชการเข้าไปควบคุม เช่นกระทรวงเจ้าสังกัด คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินสำนักงบประมาณ หรือส่วนราชการอื่น ตามที่จำเลยอุทธรณ์นั้น ก็เพราะองค์การของรัฐทั้งหลายจัดตั้งขึ้นโดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน และมีกฎหมายให้อำนาจส่วนราชการดังกล่าวเข้าไปควบคุมดูแลได้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว

จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์เข้าทำงานโจทก์ทราบแล้วว่าตามกฎหมายและระเบียบของจำเลย โจทก์จะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน พิเคราะห์แล้ว องค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเป็นรัฐวิสาหกิจ การที่รัฐวิสาหกิจให้พนักงานของตนออกจากงานเมื่อพนักงานมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นั้น มิใช่ระยะเวลาที่ตกลงกันว่าจะจ้างพนักงานคนใดคนหนึ่งตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงานจนถึงวันที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ อายุไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในหลายประการของพนักงานรัฐวิสาหกิจ เมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ย่อมเป็นผู้ขาดคุณสมบัติก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2), 14, 11 แม้ตามระเบียบ ว่าด้วยการบรรจุการแต่งตั้ง และการออกจากตำแหน่งของพนักงานองค์การห้องเย็น ฯ ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2498 ข้อ 20 ระบุว่า ให้ผู้อำนวยการองค์การห้องเย็นฯ มีอำนาจสั่งให้พนักงานออกจากงานได้ในกรณีฐานสูงอายุ หรือเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์นำไปไว้ในหมวดที่ 5 การออกจากตำแหน่ง มิได้นำไปไว้เป็นคุณสมบัติในการบรรจุเป็นพนักงานในหมวดที่ 2 เรื่องการบรรจุก็ตาม การที่พนักงานต้องออกจากงานฐานสูงอายุ หรือเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ดังกล่าว ก็เป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของพนักงานรัฐวิสาหกิจดังกล่าวมาแล้ว คุณสมบัติในการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจนี้อาจมีอยู่แล้วในขณะที่พนักงานผู้ใดผู้หนึ่งเข้าทำงานหรืออาจมีขึ้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ โดยเฉพาะคุณสมบัติเรื่องอายุที่ต้องให้พนักงานรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือเกษียณอายุนั้นอาจเปลี่ยนแปลงอายุดังกล่าวได้ การที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์จึงไม่ใช่กำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน

จำเลยอุทธรณ์ว่าการพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือครบเกษียณอายุเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างจะต้องให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2), 11, 14 การพ้นจากตำแหน่งของพนักงานรัฐวิสาหกิจเพราะขาดคุณสมบัติดังกล่าว ก็คือการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2517 ข้อ 1 แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ให้การเลิกจ้างรวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายด้วย และต่อมาก็ได้ถูกยกเลิกโดยการแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 โดยตัดข้อความดังกล่าวออกการที่จะมีข้อความว่าให้เลิกจ้างรวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายหรือจะตัดข้อความดังกล่าวออกก็ตาม หาได้ ทำให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปไม่ คงมีความหมายอยู่อย่างเดิมว่าการพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายเป็นการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน

จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยจ่ายเงินกองทุนบำเหน็จแก่โจทก์ตามระเบียบของจำเลยซึ่งมากกว่าค่าชดเชยที่โจทก์ฟ้อง ถือว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของผู้ปฏิบัติตนองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2519 จึงเป็นข้อบังคับที่ใช้ขณะที่โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว ข้อ 9 ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับเงินบำเหน็จถ้าต้องออกจากงานเพราะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือเกษียณอายุซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายนั้น ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีเวลาทำงานไม่น้อยกวาห้าปีบริบูรณ์ รวมทั้งลาออกก็ยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จด้วยซึ่งแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างประจำทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้ว แต่ลาออกไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ค่าชดเชยคือเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายแตกต่างกับการจ่ายค่าชดเชยจึงไม่อาจถือได้ว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวเป็นค่าชดเชย เงินบำเหน็จดังกล่าวจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 2 เมื่อเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไม่ใช่ค่าชดเชยจำเลยจะจ่ายให้มากหรือน้อยกว่าค่าชดเชย ก็ไม่ทำให้เงินบำเหน็จนั้นเป็นค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ว่า สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยมีอายุความ 2 ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่า การฟ้องเรียกค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164″

พิพากษายืน

Share