คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2763/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายที่พิพาทซึ่งเป็นที่มือเปล่ามีกำหนดระยะเวลาการชำระราคาไว้ แต่จำเลยมิได้ชำระราคาตามงวดให้แก่โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระราคาที่พิพาทได้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี
ศาลแพ่งสั่งจำหน่ายคดีเดิมเพราะเป็นฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องฟ้องยังศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดี แต่อย่างใด แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งอีก แต่โจทก์ได้ยื่น คำร้องขออนุญาตฟ้องและศาลแพ่งสั่งอนุญาตแล้ว จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมค่าเสียหายเท่ากับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่ไม่ให้เกินกว่า 40,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2515 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทจากโจทก์ทั้งสองในราคา 60,000 บาท โดยสัญญาว่าจะจ่ายเงิน 30,000 บาท ให้ในสิ้นเดือนกันยายน 2515 ส่วนอีก 30,000 บาทนั้น จะชำระให้ในโอกาสต่อไป โดยเอาบ้านเลขที่ 472 อาคารสงเคราะห์คลองจั่นซึ่งเป็นบ้านของจำเลยทั้งสองเป็นประกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงินงวดแรก จำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ทวงถามแล้วตามเอกสารหมาย จ.2″ ฯลฯ

จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปอีกว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ เพราะที่พิพาทเป็นที่มือเปล่า ทั้งเอกสารหมาย จ.1 ก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาและโจทก์มาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2520 เป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ตามเอกสารหมาย จ.1 จะมีกำหนดระยะเวลาการชำระราคาที่ดินพิพาทกันไว้ก็ตาม แต่เมื่อถึงกำหนดชำระปรากฏว่า จำเลยทั้งสองมิได้ชำระราคาค่าที่พิพาทตามงวดให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ซึ่งโจทก์ทั้งสองมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระราคาที่พิพาทได้ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปเป็นข้อสุดท้ายว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5066/2520 ของศาลแพ่งนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 5066/2520 ของศาลแพ่งนั้น แม้ศาลแพ่งจะสั่งจำหน่ายคดีก็สืบเนื่องมาจากเหตุที่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องฟ้องยังศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ศาลแพ่งยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด แม้คดีใหม่ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองจะฟ้อง ณ ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่สั่งจำหน่ายคดีไปแล้วก็ตาม แต่การฟ้องคดีครั้งหลังนี้โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาตแล้ว จึงหาใช่เป็นการฟ้องซ้ำดังข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่”

พิพากษายืน

Share