คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของชายถือกรรมสิทธิ์รวมกับมารดา มาก่อนเป็นสามีภริยากับโจทก์เป็นสินส่วนตัวของชาย ต่อมาชายทำสัญญาประนีประนอมแบ่งกับมารดา เมื่อโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ก็เป็นแต่แบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างจำเลยกับมารดา ที่ดินไม่เป็นสินสมรส
ชายหญิงอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน แล้วจดทะเบียนสมรสภายหลัง ทรัพย์ที่ได้มาร่วมกันก่อนจดทะเบียนสมรส เป็นกรรมสิทธิ์รวมแบ่งกันคนละครึ่งเมื่อหย่ากัน

ย่อยาว

ชายหญิงอยู่กินฉันสามีภริยากันมาก่อนแล้วจดทะเบียนสมรสภายหลัง แล้วหย่ากัน ศาลชั้นต้นพิพากษาในเรื่องแบ่งทรัพย์ ให้แบ่งคนละครึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ไม่แบ่งระหว่างโจทก์จำเลยโจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาว่าที่ดินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 1 เป็นสินสมรสหรือไม่ เห็นว่าที่ดินแปลงนี้ได้ออกโฉนดตราจองตั้งแต่วันที่1 ธันวาคม 2473 ตามเอกสารหมาย ล.1 มีชื่อจำเลยกับมารดาจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์จำเลยเพิ่งเป็นสามีภริยากันภายหลัง ที่ดินพิพาทแปลงนี้จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย แม้ต่อมาเมื่อมารดาจำเลยกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2514 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 128/2514 ของศาลชั้นต้นนั้นเป็นการแบ่งแยกที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างมารดาจำเลยกับจำเลยเท่านั้น หาใช่จำเลยได้ทรัพย์ใหม่ขึ้นมาไม่ ที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นสินสมรส” ฯลฯ

“ห้องแถวพิพาท 4 ห้องตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันดับ 3 โจทก์เบิกความว่านอกจากสร้างบ้านเลขที่ 43 แล้ว โจทก์จำเลยยังร่วมกันสร้างห้องแถวไม้ชั้นเดียวขึ้น 4 หลัง คือห้องเลขที่ 43/1, 43/2, 43/3, 43/4 ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า ไม้ที่สร้างจำเลยขออนุญาตตัดฟันมาแต่ พ.ศ. 2470 และใช้เงินที่จากการขายที่ดินให้นางบุญเลื่อนนั้น จำเลยหามีพยานเบิกความสนับสนุนไม่ จึงรับฟังไม่ได้ เชื่อว่าห้องแถวพิพาทนี้ปลูกสร้างขึ้นในระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน จึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โจทก์มีสิทธิได้กึ่งหนึ่ง”

พิพากษายืน

Share